สุขศาลา : สถานีอนามัยตัวอย่างกับการบริการสุขภาพระบบสาธารณสุขไทย

สุขศาลา : สถานีอนามัยตัวอย่างกับการบริการสุขภาพระบบสาธารณสุขไทย

 

สถานีอนามัยตัวอย่าง กับการบริการสุขภาพระบบสาธารณสุขไทย

 

แม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพในยุคสมัยใหม่ แต่ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขไทยก็ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ก้าวหน้าเพื่อสอดรับกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในภาพรวมมาโดยตลอด  

หากสืบย้อนกลับไป พบว่าประเทศไทยน่าจะรับแนวคิดการบริการสุขภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่นมาจากระบบสวัสดิการของประเทศอังกฤษ จุดเริ่มสำคัญคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 ภาครัฐได้มีการจัดตั้ง “โอสถศาลา” หรือ “โอสถสถาน” ในบางจังหวัด เพื่อให้เป็นสถานบำบัดโรคในชุมชน และเข้าถึงราษฎรอย่างทั่วถึง ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “สุขศาลา” โดยถ้าท้องถิ่นใดมีประชากรหนาแน่นทางราชการจะส่งแพทย์ไปประจำ เรียกสุขศาลานั้นว่า “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ส่วนสุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำเรียกว่า “สุขศาลาชั้นสอง” และเมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุขแล้ว ใน พ.ศ. 2485 กรมการแพทย์ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงดังกล่าว ได้รับโอนเอา “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ และในจังหวัดบางแห่งไปปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ส่วนบางแห่งได้ให้เทศบาลรับไปดำเนินการ

ในขณะที่ “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ซึ่งไม่ได้โอนไปเป็นโรงพยาบาลก็อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย ต่อมาสุขศาลาชั้นหนึ่งเหล่านี้ ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น  “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” ใน พ.ศ. 2497 แล้วจึงได้พัฒนาต่อเนื่องมาเป็น “ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” ใน พ.ศ. 2515 เป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ในปี พ.ศ. 2517 เป็น  “โรงพยาบาลอำเภอ”  ใน พ.ศ. 2520 และ เป็น  “โรงพยาบาลชุมชน” ใน พ.ศ. 2525 – 2551 สำหรับ “สุขศาลาชั้นสอง” ส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” ใน พ.ศ. 2495 และ เป็น “สถานีอนามัย” ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 – 2551

สืบเนื่องจาก ทางหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ได้รับมอบเอกสารจาก กองสุขศึกษา ในวันที่  7 มีนาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งมีสื่อโสตทัศน์หลายรายการด้วยกัน และในจำนวนนั้นได้มี สมุดอัลบั้มภาพเก่าที่รวบรวมภาพการทำงานสาธารณสุขของกองสุขศึกษาในช่วง พ.ศ. 2500-2505 ไว้จำนวน 6 อัลบั้ม ซึ่งภาพถ่ายเหล่านั้นเป็นภาพสะท้อนการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของกองสุขศึกษาที่มีความสำคัญกับสังคมไทย และเป็นหนึ่งในหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

ภาพถ่ายที่สำคัญๆ เช่น งานด้านฉีดวัคซีน งานรณรงค์การสร้างส้วมให้ประชาชน งานประปาชุมชน และพัฒนาการของสถานีอนามัย เป็นต้น ซึ่งในที่นี้ ขอยกภาพตัวอย่างภาพของโมเดล สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง สถานีอนามัยชั้นสอง สถานีอนามัยชั้นสาม ที่ได้จัดสร้างขึ้นที่ศูนย์อบรมชลบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนเป็น วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี ภาพที่จัดแสดงนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของการให้บริการสุขภาพในระบบสาธารณสุขในอดีต ที่ได้มีพัฒนาการเรื่อยมาจากการเป็น สุขศาลาชั้นหนึ่ง กลายเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง จนกระทั่งเป็นโรงพยาบาลในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการเก็บรักษาสืบทอดเรื่องราวและภูมิปัญญาที่มีค่านี้ไว้ ให้เป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ทางเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติจึงได้ทำการจัดกลุ่ม จำแนกหมวดหมู่ของรูปภาพ แล้วจัดข้อมูลในไฟล์ดิจิตอลกับข้อมูลในสมุดภาพเก่าให้มีความสอดคล้องกัน โดยการระบุเลขรหัสข้อมูลดิจิตอลไฟล์กับเลขรหัสภาพในสมุดภาพเก่า รวมถึงการบันทึกข้อมูลและและรายละเอียดอื่นๆที่จำเป็น เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ เพื่อให้เป็นระบบ ใช้สำหรับสืบค้นได้สะดวกรวดเร็วตามหลักมาตรฐานของการจัดเก็บข้อมูลในหอจดหมายเหตุ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้สนใจ นักวิชาการ นักศึกษา ได้ใช้ค้นคว้าต่อไป  

ในส่วนของ เอกสาร ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานีอนามัย ซึ่งทางหอจดหมายเหตุสาธารณสุขได้รับมอบจากทางกองสุขศึกษา ได้แก่1)  ฟิล์มภาพยนตร์ ขนาด 16 มม. จำนวน 122 ม้วน 2)  ฟิล์มภาพยนตร์ ขนาด 35 มม. จำนวน 63 ม้วน 3)  ฟิล์มเนกาทีฟ จำนวน 88 กล่อง พ.ศ. 2500 – 2549 4)  ฟิล์มเนกาทีฟ จำนวน 4 กล่อง ม.ป.ป. 5)  ฟิล์มสไลด์ 120 จำนวน 1 กล่อง ม.ป.ป. 6)  อัลบั้มรูปภาพการปฏิบัติงานของกองสุขศึกษา พ.ศ. 2500 – 2505 จำนวน 6 อัลบั้ม

 

ตัวอย่างเอกสารจดหมายเหตุ

  

 

รูปโมเดลสถานีอนามัยตัวอย่าง

    

                     สถานีอนามัย ชั้น 1 สร้างแสดงไว้ที่ศูนย์อบรมชลบุรี          สถานีอนามัย ชั้น 2 ตัวอย่างสร้างแสดงไว้ที่ศูนย์อบรมชลบุรี

 

สถานีอนามัย ชั้น 3 ตัวอย่างสร้างแสดงไว้ที่ศูนย์อบรมชลบุรี

 

รูปสถานีอนามัยตัวอย่าง

   

                    สถานีอนามัย ชั้น 1 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ                 สถานีอนามัย ชั้น 2 ตำบลนาท่ามเหนือ

    

                     สถานีอนามัย ชั้น 1 อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา       สถานีอนามัย ชั้น 1  อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

    

                                          สถานีอนามัย ชั้น 1 โคกโพ                                    สถานีอนามัย ชั้น 2 โคกโพ

 

     

                                           สถานีอนามัย ชั้น 1 ทุ่งสง                                      สถานีอนามัย ชั้น 1 จังหวัดกระบี่                                              

     

                                          สถานีอนามัย ชั้น 2 ถลาง                                       สถานีอนามัย ชั้น 2 ห้วยยอด

 

เอกสารอ้างอิง

ประคอง แก้วนัยประวัติศาสตร์สุขภาพชุมชนสุขศาลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 8, ตุลาคม-ธันวาคม2552.
นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ และคณะรอยเวลา : เส้นทางประวิตศาสตร์สุขภาพกรุงเทพ : สุขศาลา2556.

 

ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเอกสารจดหมายเหตุ หรือขอข้อมูลได้ที่ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารคลังพัสดุ(88/37) กระทรวงสาธารณสุข ซอยสาธารณสุข 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000  โทร. 092 858 9665 หรือติดต่อสอบถามที่ส่วนงานบริหาร สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ โทร. 0 2590 1352