สมัยกรุงสุโขทัย

สมัยกรุงสุโขทัย

 

อาณาจักรกัมพูชามีความเจริญถึงขีดสุดในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ โดยได้แผ่อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมครอบคลุมถึงดินแดนภาคตะวันออกเฉียง ภาคเหนือ ภาคใต้ตอนบน และภาคกลางของไทย อาณาจักรสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยรับเอาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน รวมทั้งศิลปศาสตร์และความรู้ในเรื่องการแพทย์ที่ถูกนำเข้ามาผนวกกับความรู้เดิมในท้องถิ่น สุโขทัยจึงมีระบบความเชื่อที่ผสมผสานกันทั้งพุทธ พราหมณ์และผี 

 การแพทย์แผนโบราณ  ยุคผสมผสานกับอายุรเวทของอินเดีย

จากศิลาจารึกที่อยู่ในอโรคยาศาล ทำให้เชื่อกันว่า วิชาอายุรเวท  เป็นรากฐานของการแพทย์ไทย  ดังคำว่า ติกิจฉา อันหมายถึงวิชาแพทย์หรือวิชาที่ใช้รักษาคนป่วย ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นสิ่งที่มี มาก่อนหน้าสมัยพุทธกาลอยู่แล้ว

อาณาจักรเขมรที่รุ่งเรืองก่อนหน้าอาณาจักรสุโขทัย ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รวม  ไปถึงคติ ความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน ดังปรากฏมีพระไภษัชยคุรุเป็นประธานในอโรคยาศาล ทำให้สันนิษฐานว่า อาณาจักรสุโขทัยคงรับเอาความรู้ในเรื่องการแพทย์ตามคติพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาผสมผสานกับความรู้เดิมในท้องถิ่น อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า ในสมัยสุโขทัยมี รูปแบบหรือวิธีการรักษาโรคโดยเฉพาะแต่อย่างใด จึงอนุมานว่า ลักษณะการแพทย์การรักษาเป็นการใช้สมุนไพร รวม ไปถึงเวทมนต์คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิม ดังมีการขุดค้นพบตุ๊กตาเสียกบาลที่ใช้ในการบน บานศาลกล่าวและการแก้บนในยามเจ็บไข้เป็นจำนวนมาก ไม่มีการพบอโรคยาศาลขนาดใหญ่เหมือนใน ยุคอาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ จึงสันนิษฐานว่า การรักษาโรคภัยไข้เจ็บในอาณาจักรสุโขทัย เป็นการจัดการ  กันเองด้วยความรู้ในชุมชนแต่ละแห่ง 

 

  ผี และความเชื่อดั้งเดิมในการรักษาโรค

  ในหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ ๑ มีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่... มีพระขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย

ชาวสุโขทัยเชื่อว่า พระขพุงผีเป็นเทวดาอารักษ์ที่มีอำนาจสูงสุด สิงสถิตอยู่ในเขาทิศหัวนอนเมืองสุโขทัย เจ้าผู้ปกครองเมืองต้องทำพลีกรรมเซ่นสรวงให้ถูกต้อง จึงจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ข้อความนี้ แสดงถึงความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบดั้งเดิมของกลุ่มชนชาวไทยควบคู่ไปกับความเชื่อทาง พระพุทธศาสนา   การอาศัยอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นเป็นความเชื่อที่มีอยู่ในสมัยสุโขทัย ดังมีการขุดค้นพบตุ๊กตาเสียกบาลที่ใช้ในการบนบานศาลกล่าวและการแก้บนในยามเจ็บไข้ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังมีจารึกระบุถึงการสร้างสวนสมุนไพรบนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฎรได้ เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่พบว่ามีการสร้างโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาลเหมือนในยุคอาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บในอาณาจักรสุโขทัยจึงอาจเป็นการจัดการกันเองใน ชุมชนด้วยการใช้สมุนไพรและพิธีกรรมต่างๆ 

 

  โรคในสมัยสุโขทัย

 

ส่วนโรคภัยไข้เจ็บในสมัยสุโขทัยนั้น แม้จะไม่พบตำราการแพทย์โดยตรง แต่หลักฐานสมัยเดียวกันในหนังสือไตรภูมิกถาของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ได้กล่าวถึงโรคต่างๆ ไว้ว่า

ฝูงคนกินข้าวนั้น และรู้ว่าเป็นหิด แลเรื้อนเกลื้อน แลกลากหูด แลเปา เป็นต่อม เป็นเตา เป็นง่อย เป็นเพลีย ตาฟู หูหนวก เป็นกระจอก งอกเลื้อย เปื่อยเนื้อเมื่อยตน ท้องขึ้น ท้องพอง ต้องไส้ ปวดหัว ตามัว ไข้เจ็บ เหน็บเหนื่อยวิการดังนี้ไซ้ 

 



ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑
หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข