แผนปฏิบัติการประจำปี

โครงการสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์สุขภาพไทย

หลักการและเหตุผล
    ในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูประบบสุขภาพหลายครั้ง โดยกระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งได้สะท้อนให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคลากรด้านสุขภาพและสังคมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน การเคลื่อนไหวผ่านการสร้างงานวิชาการและเผยแพร่ประเด็นเรื่องสุขภาพสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการเห็นร่วมกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทย แต่ผ่านมาการปฏิรูประบบสุขภาพแทบไม่มีการบันทึกหรือจัดเก็บข้อมูลเอาไว้อย่างเป็นระบบให้สามารถนำมาเรียนรู้จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ การปฏิรูปได้เท่าที่ควร การขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์นี้เป็นลักษณะทั่วไปของสังคมไทยที่มักคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการท่องจำและไม่สามารถนำไปใช้ ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้  ประวัติศาสตร์การแพทย์การสาธารณสุขไทยเท่าที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งและสำเร็จรูปเพื่อการท่องจำ โดยถือว่าประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยเริ่มต้นเมื่อหมอมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตกในสยามและมาสิ้นสุดลงที่การก่อตั้งโรงศิริราช พยาบาล  ความสนใจในมิติทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการแพทย์กับผลกระทบทางสังคม ประวัติศาสตร์ทางสังคมของโรคต่าง ๆ ประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณสุขไทย ประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวบ้าน หรือประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนโยบายสาธารณะ ยังไม่มีการศึกษาเรียนรู้มากนัก 
ในขณะที่ ประวัติศาสตร์การแพทย์การสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ และในแวดวงนักประวัติศาสตร์เองก็ยังมีความสนใจงานวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขน้อย ยิ่งประวัติศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการปฏิรูประบบสุขภาพแทบไม่ได้รับความสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านหลักฐานหรือข้อมูลทางด้านเอกสารที่จะใช้ศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่ค้นหาได้ยากมาก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวที่ไม่มีเอกสารทางราชการหรือเอกสารชั้นต้นเก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือที่อื่นใดสำหรับการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์  อีกทั้งการย้ายที่ทำการกระทรวงสาธารณสุขจากวังเทวะเวศม์มายังสถานที่ใหม่ที่นนทบุรี ยังได้ทำให้เอกสารต่าง ๆ สูญเสียและสูญหายไปอย่างประมาณค่าไม่ได้ นอกจากนั้นเอกสารด้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพและการปฏิรูปต่างๆ ที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่มีการเก็บรวบรวมไว้เป็นระบบเช่นเดียวกัน
    แม้ว่าในด้านหนึ่งตลอดการปฏิรูประบบสุขภาพจะได้มีการบันทึกเสียงและภาพเอาไว้ในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเอกสารและบันทึกต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการเก็บรักษาและรวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุฯ  แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ลักษณะของสังคมไทยที่ไม่นิยมการจดบันทึกอย่างละเอียด ได้ทำให้ประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่ในความทรงจำของบุคคลที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพอยู่อีกมาก และมักจะถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่ามากกว่าลายลักษณ์อักษร  ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์   คือการใช้กระบวนการที่เรียกว่า “การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness seminar)” โดยอาศัยการถ่ายทอดความทรงจำของบุคคลที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มาร่วมประชุมกันเพื่อบอกเล่า ให้ความเห็น อภิปราย ถกเถียง ถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบสุขภาพที่เกิดขึ้น  และทำการเก็บบันทึกไว้ในรูปของเทปบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งทำการถอดเทปการประชุมและทำการบรรณาธิกรณ์ให้สามารถนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ และทำเป็นเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้เผยแพร่ โดยจัดระบบฐานข้อมูลและดัชนีให้สะดวกในการสืบค้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สุขภาพไทยในระยะยาว
    การจัดกระบวนการเพื่อการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการความรู้ที่ถือว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่ในระบบหนึ่ง ๆ นั้น ดำรงอยู่ได้ในหลากหลายรูปแบบ  นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นเอกสาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของความรู้ในระบบปฏิบัติการแล้ว  ความทรงจำถือได้ว่าเป็นความรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลและแฝงไว้ซึ่งคุณค่า  การเรียนรู้จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์เพื่อให้เราได้ทบทวนและได้ “รู้ตัว” ว่าที่เรามามีสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในอดีต  และเมื่อยิ่งเข้าใจอดีต  ก็ยิ่งมองออกไปไกลในอนาคต  ดังวาทะของวินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ  ที่นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว  ยึดเป็นคติประจำใจในการดำเนินชีวิตใจความว่า  “The longer you can look backward, the further you can look forward”
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ  ซึ่งได้ดำเนินแผนงานด้านประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปี จึงได้จัดทำโครงการ สัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทยขึ้น  โดยนอกจากจะดำเนินการให้เกิดฐานข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าแล้ว การสัมมนาผู้รู้เห็นนี้ยังเป็นการริเริ่มกิจกรรมเพื่อการสนับสนุนการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลชั้นต้นด้านการแพทย์และสุขภาพสำหรับให้บริการค้นคว้าแก่ผู้สนใจในอนาคต นอกจากนั้น การสัมมนาผู้รู้เห็นนี้ยังจะเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ที่จะสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนารูปแบบการสัมมนาผู้รู้เห็นในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน และใช้ได้กับบริบทของสังคมไทยอันจะเป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับการจัดการความรู้ที่ใชัประโยชน์ได้ในวงกว้าง
2. เพื่อประมวลความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางการแพทย์และการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจากความทรงจำของบุคคลที่ เป็นผู้รู้เห็นหรือเป็นพยานที่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทยโดยใช้รูปแบบการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar)
3. เพื่อสร้างฐานข้อมูลความรู้ด้านประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทยจากการบอกเล่าของผู้รู้เห็นให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ เป็นระบบ เข้าถึงได้ง่าย และได้รับการเผยแพร่ให้กว้างขวาง อันจะเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักประวัติศาสตร์ นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และผู้สนใจทั่วไป ได้หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุข

กรอบแนวคิดการดำเนินงาน
1.    การสัมมนาผู้รู้เห็น  (Witness Seminar) เป็นรูปแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มโดย The Institution of Contemporary British History ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น  Centre for Contemporary British History (CCBH) เป็นกระบวนการประมวลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือวิวัฒนาการของสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้รู้เห็น  โดยการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและรู้เห็นกับเหตุการณ์  มาร่วมกันสัมมนาบอกเล่าเรื่องราวตามความทรงจำและทำการบันทึก เรียบเรียง จัดระบบเป็นหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการใช้ประโยชน์  CCBH  ได้ดำเนินการสัมมนาลักษณะนี้มาตั้งแต่ ค.ศ.1986  และได้พัฒนาระเบียบวิธี  จนมีองค์กรวิชาการต่าง ๆ ทั่วโลกนำเอาเทคนิคการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าดังกล่าวไปใช้อย่างกว้างขวาง
2.    ในด้านประวัติศาสตร์การแพทย์นั้น  The Welcome Trust Centre for the History of Medicine  เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินการสัมมนาผู้รู้เห็นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการแพทย์ในอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง  นอกเหนือจากหอสมุดประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและวารสารประวัติศาสตร์การแพทย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว  ปัจจุบัน The Welcome Trust Centre for the History of Medicine  มีฐานข้อมูลจากการสัมมนาผู้รู้เห็นที่ใหญ่และครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ มากที่สุด  ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ไม่เพียงแต่เสริมความสมบูรณ์ให้กับข้อมูลเอกสารเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้การประเมินคุณค่าของข้อมูลเอกสารเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้นด้วย
3. รูปแบบการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นมีจุดเด่นที่การได้ข้อมูล ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เปิดเผยให้เห็นถึงกลไกในระดับจุลภาคที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค  และเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  อันจะสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปฏิบัติในกลไกและกระบวนการนโยบาย (Policy Process) ทั้งในระดับวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินการได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการจัดเป็นการสัมมนากลุ่มมีจุดเด่นในแง่ที่เหตุการณ์ที่บุคคลหนึ่งบอกเล่าขึ้นในวงสัมมนาจะช่วยกระตุ้นให้บุคคลอื่นได้ระลึกถึงเรื่องราว อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการเสริมและสอบทานความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลกันอยู่ในการสนทนานั้นเอง
    4. หลักการดำเนินงานที่ยึดถือเป็นแม่แบบสากลของการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นนั้นมีเกณฑ์กว้าง ๆ ได้แก่ การกำหนดหัวเรื่องที่น่าสนใจโดยเลือกเหตุการณ์ที่ผู้ร่วมรู้เห็นยังมีชีวิตอยู่ และจะต้องได้ตัวบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นมาร่วมสัมมนาโดยมีนักวิชาการอาวุโสที่เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา ซึ่งการกำหนดหัวเรื่องและการคัดเลือกตัวบุคคลนี้ จะเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการวิชาการ และเมื่อการสัมมนาเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการวิชาการจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า เนื้อหาที่ได้จากการสัมมนานั้นเหมาะสมที่จะเผยแพร่ในรูปแบบใด หรือไม่อย่างไร

แนวทางการดำเนินงาน
    การดำเนินงานสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทยที่จะดำเนินการโดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพนี้มีรายละเอียดแนวทางและขั้นตอน การดำเนินงาน ดังนี้
1. การจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการและคณะที่ปรึกษาซึ่งจะทำหน้าที่คัดเลือกประเด็น ตัวบุคคล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
2. แสวงหาความร่วมมือทางวิชาการ Centre for Contemporary British History และ The Welcome Trust Centre for the History of Medicine ด้วยการไปศึกษาดูงาน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่สถาบันดังกล่าวมีอยู่มาใช้เป็นประโยชน์ ทั้งในการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นและการจัดระบบหอสมุดประวัติศาสตร์ และหอจดหมายเหตุทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์เพื่อการร่วมมือกันระยะยาว
3. การสัมมนาผู้รู้เห็นจะเน้นประเด็นที่ทำให้เห็นถึงความเป็นมา พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไทยเป็นประเด็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งก็พยายามเชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณสุขด้วย โดยเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นเชิงนโยบายและให้ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ ตัวอย่างประเด็นที่สามารถดำเนินการสัมมนาผู้รู้เห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งสำคัญ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

    1) การปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุขครั้งสำคัญ
1.    การปฏิรูประบบสาธารณสุขเพื่อมวลชนหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
2.    การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2517
3.    การปฏิรูปสุขภาพสู่ชนบทในโครงการสาธารณสุขมูลฐาน
4.    การปฏิรูปการจัดการระบบสุขภาพด้วยการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชน
5.    การปฏิรูปสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน
6.    การปฏิรูปด้านวิชาการสุขภาพด้วยการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
2)    กระบวนการการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
1.    จุดเริ่มต้นและความคิดของผู้ร่วมก่อการของการปฏิรูประบบสุขภาพ
2.    การทำงานด้านวิชาการของการปฏิรูประบบสุขภาพ
3.    การทำงานด้านการสื่อสารกับสาธารณะในกระบวนการปฏิรูป
4.    การทำงานเชื่อมโยงกับการเมืองและการผลักดันนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพ
5.    การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในกระบวนการปฏิรูป
6.    การเคลื่อนไหวของภาควิชาชีพและบุคลากรด้านสุขภาพ
7.    การบริหารจัดการองค์กรในการทำงานปฏิรูประบบสุขภาพ
8.    การปฏิรูปจากรากหญ้าบทเรียนจากสมัชชาระดับต่าง ๆ

4. การสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์ตามปกติจะจัดขึ้นประมาณปีละ 2 ครั้งตามประเด็นที่มีความสำคัญใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นอาจจัดตามหัวข้อความสำคัญและความจำเป็นของผู้เข้าร่วม เช่น อาจจะต้องจัดในประเด็นที่เกิดขึ้นนานแล้วก่อน เพราะผู้เข้าร่วมอายุมากหรือเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจก็จะให้มีการทบทวนเหตุการณ์ในอดีตขึ้น โดยในกรณีที่เหมาะสมจะจัดให้มีสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ และจัดการนำเนื้อหาที่น่าสนใจออกเผยแพร่
5. ขั้นตอนการดำเนินงานจะเริ่มจากการตั้งประเด็นสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพขึ้นมาเป็นประเด็นเริ่มต้นดำเนินการ จากนั้นก็สำรวจหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยนอกจากเน้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีฐานะเป็นปูชนียบุคคลที่ควรให้ความสำคัญแล้ว ยังต้องหาพยานให้รอบด้านมาช่วยกันสะท้อนมุมมองต่อเหตุการณ์ที่กำหนดขึ้นนั้น เพื่อให้ได้ความคิด ความเห็น ประสบการณ์จากผู้คนที่หลากหลายมากที่สุด จากนั้นจึงกำหนดวันประชุมและวาระการประชุมโดยให้ผู้เข้าร่วมได้เตรียมตัวและสามารถจัดหาพยานเอกสาร ภาพถ่าย โปสเตอร์ เทปบันทึกเสียงหรือวัตถุพยานอื่นใดสามารถนำมาประกอบความทรงจำได้ทั้งสิ้น ในบางประเด็นที่มีหลักฐานทางเอกสารชัดเจนพอก็จะมีคณะทำงานทางวิชาการไปรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสารขึ้นเป็นเอกสารประกอบการประชุมสำหรับแจกผู้เข้าร่วมทุกคนด้วย
6. รูปแบบการประชุมเน้นการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กำหนด โดยสามารถอภิปราย เล่าประสบการณ์ ให้ความเห็น ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายที่เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ คอยทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการสัมมนาให้ได้ประเด็นครบตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ข้างต้น การจัดสัมมนาทุกครั้งจะมีการสรุปขึ้นเป็นเอกสารวิชาการทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้  นอกจากนั้นจะมีนักศึกษาประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์การแพทย์ระดับปริญญาโทและเอกที่สนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เขาสนใจ เข้าร่วมเพื่อบันทึกและประมวลประเด็นสำคัญสำหรับศึกษาและวิจัยต่อไป ในขณะเดียวกันตลอดการสัมมนาก็จะมีการถ่ายภาพวิดีทัศน์และบันทึกเสียงเอาไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งและหลักฐานทุกอย่างจะเก็บเอาไว้ในฐานะ เป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์
7. หลังการสัมมนาจะมีการถอดเทปบันทึกเสียงการประชุมออกมาพิมพ์เป็นเอกสารเพื่อจัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการค้นคว้ารวมทั้งดำเนินการเพื่อการเผยแพร่ มีทั้งในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าถึงได้โดยทางอินเตอร์เน็ต (Internet)  และในกรณีที่คณะกรรมการวิชาการเห็นว่าสมควรพิมพ์เป็นหนังสือหลังจากพิมพ์เป็นเอกสารการประชุม ก็ต้องส่งรายงานการประชุมให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้แก้ไข ตรวจทานจนถูกต้องและอนุญาตให้พิมพ์แล้ว จึงจะดำเนินการจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ขอบเขตการดำเนินงาน
การดำเนินงานเป็นระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 - 30 กันยายน 2555 โดยกำหนดจัดให้มีการสัมมนาขึ้นประมาณปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน
โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งละประมาณ 20 คน ประกอบด้วย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลัก ผู้ดำเนินการประชุมที่คอยกำหนดประเด็น นักวิจัยหรือนักประวัติศาสตร์ที่สนใจประเด็นนั้น  สื่อมวลชน และผู้บันทึกข้อมูลที่คอยทำหน้าที่บันทึกข้อมูลทั้งที่อยู่ในรูปของการจดบันทึก การบันทึกเสียง และการบันทึกเป็นวิดีโอตลอดการประชุมทุกครั้ง