แผนปฏิบัติการประจำปี

โครงการ HA Witmness Seminar

โครงการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar)
กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation)

หลักการและเหตุผล
    กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) ได้ก่อกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ในรูปแบบของการวิจัยและพัฒนา และมีการพัฒนาเรื่อยมาภายใต้ฐานความรู้ทางวิชาการและการยกย่องชมเชย  ก่อให้เกิดความตื่นตัว ความรู้ความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง  นับว่าเป็นบทเรียนที่น่าสนใจควรแก่การบันทึกแนวความคิดและความพยายามต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องในช่วงเริ่มต้นไว้เป็นประวัติศาสตร์
    ข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่งยังอาจมิได้รับการจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ แต่อยู่ในความทรงจำของบุคคล  ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางออกที่เป็นไปได้หนึ่งของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ คือ
การใช้กระบวนการที่เรียกว่าการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness seminar) โดยอาศัยการถ่ายทอดความ
ทรงจำของบุคคลที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มาร่วมประชุมกันเพื่อบอกเล่า ให้ความเห็น อภิปราย ถกเถียง ถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น และทำการเก็บบันทึกไว้ในรูปของเทปบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งทำการถอดเทปการประชุมและทำการบรรณาธิกรณ์ให้สามารถนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือและทำเป็นเอกสารหรือสื่อ อิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้เผยแพร่ โดยจัดระบบฐานข้อมูลและดัชนีให้สะดวกในการสืบค้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในระยะยาว
    การจัดกระบวนการเพื่อการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการความรู้ที่ถือว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่ในระบบหนึ่ง ๆ นั้น ดำรงอยู่ได้ในหลากหลายรูปแบบนอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นเอกสาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของความรู้ในระบบปฏิบัติการแล้ว ความทรงจำถือได้ว่าเป็นความรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลและแฝงไว้ซึ่งคุณค่า  การเรียนรู้จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์เพื่อให้เราได้ทบทวนและได้ “รู้ตัว” ว่าที่เรามามีสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจาก เหตุปัจจัยต่าง ๆ ในอดีต และเมื่อยิ่งเข้าใจอดีต ก็ยิ่งมองออกไปไกลในอนาคต
    ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ซึ่งได้ดำเนิน
แผนงานด้านประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลจึงได้จัดทำโครงการสัมมนาผู้รู้เห็นกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลขึ้น

วัตถุประสงค์
    1. เพื่อประมวลความรู้เกี่ยวกับการก่อกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการ HA จากความทรงจำของบุคคลที่เป็นผู้รู้เห็นหรือเป็นพยานที่ร่วมในเหตุการณ์โดยใช้รูปแบบการสัมมนาผู้รู้เห็น(Witness Seminar)
    2. เพื่อสร้างฐานข้อมูลความรู้ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนากลไกส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล จากบอกเล่าของผู้รู้เห็นให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ เป็นระบบ เข้าถึงได้ง่าย และได้รับการเผยแพร่ให้กว้างขวาง อันจะเป็นการกระตุ้นให้มีการศึกษาและนำมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนากลไกในระบบสาธารณสุขอื่นๆ

กรอบแนวคิดการดำเนินงาน
    1. การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) เป็นรูปแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มโดย The Institution of Contemporary British History ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Centre for Contemporary British History (CCBH) เป็นกระบวนการประมวลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือวิวัฒนาการของสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้รู้เห็น โดยการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและรู้เห็นกับเหตุการณ์ มาร่วมกันสัมมนาบอกเล่าเรื่องราวตามความทรงจำและทำการบันทึก เรียบเรียงจัดระบบเป็นหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการใช้ประโยชน์ CCBH ได้ดำเนินการสัมมนาลักษณะนี้มาตั้งแต่ ค.ศ.1986 และได้พัฒนาระเบียบวิธี จนมีองค์กรวิชาการต่าง ๆ ทั่วโลกนำเอาเทคนิคการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าดังกล่าวไปใช้อย่างกว้างขวาง
    2. ในด้านประวัติศาสตร์การแพทย์นั้น The Welcome Trust Centre for the History of Medicine เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินการสัมมนาผู้รู้เห็นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการแพทย์ในอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากหอสมุดประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ในโลกและวารสารประวัติศาสตร์การแพทย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ปัจจุบัน The Welcome Trust Centre for the History of Medicine มีฐานข้อมูลจากการสัมมนาผู้รู้เห็นที่ใหญ่และครอบคลุม ประเด็นต่าง ๆ มากที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ไม่เพียงแต่เสริมความสมบูรณ์ให้กับข้อมูลเอกสารเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้การประเมินคุณค่าของข้อมูลเอกสารเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้นด้วย
    3. รูปแบบการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นมีจุดเด่นที่การได้ข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เปิดเผยให้เห็นถึงกลไกในระดับจุลภาคที่เชื่อมโยงกับการ เปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค และเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันจะสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปฏิบัติในกลไกและกระบวนการนโยบาย (Policy Process) ทั้งในระดับวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินการได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการจัดเป็นการสัมมนากลุ่มมีจุดเด่นในแง่ที่เหตุการณ์ที่บุคคลหนึ่งบอกเล่าขึ้นในวงสัมมนาจะช่วยกระตุ้นให้บุคคลอื่นได้ระลึกถึง เรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการเสริมและสอบทานความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลกันอยู่ในการสนทนานั้นเอง
    4. หลักการดำเนินงานที่ยึดถือเป็นแม่แบบสากลของการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นนั้นมีเกณฑ์กว้าง ๆ ได้แก่ การกำหนดหัวเรื่องที่น่าสนใจโดยเลือกเหตุการณ์ที่ผู้ร่วมรู้เห็นยังมีชีวิตอยู่ และจะต้องได้ตัวบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นมาร่วมสัมมนาโดยมีนักวิชาการอาวุโสที่เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

แนวทางการดำเนินงาน
    1. การสัมมนาผู้รู้เห็นจะเน้นประเด็นที่ทำให้เห็นถึงความเป็นมา พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบเป็นประเด็นหลัก
    2. ขั้นตอนการดำเนินงานจะเริ่มจากการตั้งประเด็นสำคัญซึ่งในที่นี้ได้แก่การก่อกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการ HA จากนั้นก็สำรวจหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มาช่วยกันสะท้อนมุมมองต่อกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้ได้ความคิด ความเห็น ประสบการณ์จากผู้คนที่หลากหลายมากที่สุด กำหนดวันประชุมและวาระการประชุมโดยให้ผู้เข้าร่วมได้เตรียมตัวและสามารถจัดหาพยานเอกสาร ภาพถ่าย โปสเตอร์ เทปบันทึกเสียงหรือวัตถุพยานอื่นใดสามารถนำมาประกอบความทรงจำ
    3. รูปแบบการประชุมเน้นการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กำหนด โดยสามารถอภิปราย เล่าประสบการณ์ ให้ความเห็น ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายที่เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ คอยทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการสัมมนาให้ได้ประเด็นครบตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ข้างต้น จะมีคนคอยจดประเด็นในการสัมมนาเพื่อสรุปขึ้นเป็นเอกสารวิชาการทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันตลอดการสัมมนาก็จะมีการถ่ายภาพวิดิทัศน์และบันทึกเสียงเอาไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งและหลักฐานทุกอย่างจะเก็บเอาไว้ใน ฐานะเป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์
    4. หลังการสัมมนาจะมีการถอดเทปบันทึกเสียงการประชุมออกมาพิมพ์เป็นเอกสารเพื่อ
จัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการค้นคว้ารวมทั้งดำเนินการเพื่อการเผยแพร่ มีทั้งในรูปของ
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าถึงได้โดยทางอินเตอร์เน็ต (Internet)

ขอบเขตการดำเนินงาน
    จัดการสัมมนาเป็นเวลา 1 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา 15 คน ประกอบด้วยผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องในการก่อกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการ HA ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลัก ผู้ดำเนินการประชุมที่คอยกำหนดประเด็น และผู้บันทึกข้อมูล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    1. ข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าของบุคคลผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานการก่อกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการ HA ในประเทศไทย
    2. สามารถนำเอาข้อมูลใหม่หรือความเข้าใจใหม่ ๆ ต่อกระบวนการ HA มาวิเคราะห์เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนากลไกในระบบสาธารณสุขอื่นๆ
    3. นำข้อมูลที่ได้รับจัดเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประวัติศาสตร์ในหอจดหมายเหตุการแพทย์และการสาธารณสุขไทย เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยในอนาคต

ผู้รับผิดชอบโครงการ
    สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล


กำหนดการสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์
กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital  Accreditation )
วันอังคารที่ 4  พฤศจิกายน  2551
ณ  ห้องประชุมเวอร์โก้  ชั้น 3  โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  กรุงเทพมหานคร

8.30 -09.00 น.    ลงทะเบียน

9.00 – 09.15 น.    ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนา

09.15 – 10.30 น.    การเสวนาผู้รู้เห็นกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

10.30 – 10.45 น.    รับประทานอาหารว่าง

10.45 – 12.00 น.    การเสวนาผู้รู้เห็นกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

1200 – 13.00 น.    รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 16.00 น.    การเสวนาผู้รู้เห็นกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล