ผู้ใหญ๋วิบูลย์ เข็มเฉลิม

ผู้ใหญ๋วิบูลย์ เข็มเฉลิม

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมเป็นต้นธารแนวคิด"วนเกษตร"  กลายเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลทางนโยบายและแนวคิดในช่วงต้นของยุคงานสาธารณสุขมูลฐาน

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญในยุคแรกของงานสาธารณสุขมูลฐาน ช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่เสนอให้เห็นรูปธรรมแนวความคิดสมุนไพรกับการแพทย์พื้นบ้านเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ในมิติการพึ่งตนเองของชุมชน วนเกษตรในความหมายของผู้ใหญ่วิบูลย์คือ วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกับป่า ที่มีความหลากหลายของพรรณไม้ และสามารถหาอยู่หากินอย่างมีความสุข ในป่ามีทั้ง อาหาร ยา และไม้ใช้สอยทุกอย่างเพียงพอ เป็นปัจจัยสี่การดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังเกิดการเรียนรู้สั่งสมสืบทอดภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพ  ซึ่งผู้ใหญ่พิสูจน์ให้ทุกคนและสังคมได้เห็นแก่สายตาและประสบการณ์

 

ผู้ใหญ่วิบูลย์ถือเป็นต้นกำเนิดแนวความคิดสมุนไพรกับการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของชุมชน จากการมีวิถีชีวิตให้เห็นเป็นตัวอย่าง พร้อมกับมีภูมิปัญญาการถ่ายทอดออกเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน อย่างที่ ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ กล่าวไว้ว่า ที่บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ ไม่ใช่แค่เป็นศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่ยังสามารถสื่อเรื่องยาก ๆ ของชนบทให้นักศึกษาหรือคนชั้นกลางที่มาศึกษาดูงานให้เข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง อย่างที่ห้องบรรยายสี่เหลี่ยมทำไม่ได้ ผู้ใหญ่จึงเป็นนักคิด ไม่ใช่แค่วิทยากรชาวบ้าน

คนที่คุ้นเคยมักเรียกท่านว่า พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ ด้วยลักษณะความเป็นกันเอง พูดน้อยนุ่มนวล ยิ้มก่อนพูด แต่ความคิดเฉียบคม ผู้มีอิทธิพลทางความคิดคนสำคัญ คือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากรและอาจารย์ป๋วย อึ๋งภากรณ์ แต่ยังได้พบหนังสือปรัชญาหลายเล่มในห้องสมุดที่บ้านผู้ใหญ่ อาทิ   ลีโอ ตอลสตอย ด้านศานา คือ ท่านพุทธทาส ภิกขุ จากห้องเก็บหนังสือที่เห็น จึงกล่าวได้ว่า ผู้ใหญ่เป็นนักอ่าน ไม่ใช่เพียงเกษตรกร

 

 

 

 

 

 

 

 

   

                              

ผู้คนที่ไปหามักเป็นผู้สนใจแง่มุมงานพัฒนาให้คนชนบทหรือคนข้างล่าง มีโอกาสหลุดจาก"สายพานชีวิต" ที่ส่งผลต่อให้ชาวบ้านมักหลีกไม่พ้นการเป็นหนี้ มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาระบบตลาด เป็นส่วนเกินในวงจรการผลิตที่ไม่มีโอกาสได้เป็นอิสระ จึงจนซำซาก ที่บ้านผู้ใหญ่จึงมีการปลูกพืชทุกอย่างที่กินได้ มีครกตำข้าวกินเอง มีสมุนไพรไว้ใช้ มีไม้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผู้ศึกษาดูงานมักได้รับความรู้และมีประสบการณ์ในการตำข้าว เก็บผัก เก็บเห็ด เก็บสมุนไพร และทำยาสมุนไพร 

                           

นอกจากมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพึ่งตนเองของชุมชนด้านต่าง ๆแล้ว  กิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดการความรู้ในระดับชุมชนในการพัฒนาตำรับยาจากสมุนไพร  มีการฝึกปฏิบัติการทำยาทุกขั้นตอนที่จะทำกันเองได้ โดยมีเภสัชกรและนักวิชาการมาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้  พ่อผู้ใหญ่เก็บรวบรวมตำรายาเก่าแก่ที่สืบทอดจากพ่อ ชื่อ หมอจันดี เข็มเฉลิม อดีตแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม อาทิ สมุดไทยดำ-ไทยขาว สมุดบันทึกอักษรขอมไทย อักษรไทยน้อย อักษรไทย และตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ที่พ่อผู้ใหญ่ยังมีความตั้งใจให้ชุมชนเกิดการคัดลอกและสืบทอดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น