สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง-ปัจจุบัน

 

 

      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)

               การจัดตั้งโรงพยาบาลแบบถาวร

แต่เดิมนั้นประเทศไทยไม่มีโรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาราษฎรที่ป่วยไข้ เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว (เรียกกันว่า โรงพยาบาลเอกเทศ”) เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยถึง ๔๘ แห่งในกรุงเทพฯ เมื่อโรคระบาดสงบลง จึงยกเลิกไป  การจัดตั้งโรงพยาบาลแบบถาวรเกิดขึ้นในอีก ๕ ปีต่อมา โดยในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการคณะหนึ่งชื่อว่า คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” ขึ้น มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศิริวัชสังกาศเป็นองค์ประธาน เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยได้พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลศิริราช” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากโรคบิด และต่อมาได้ทรงตั้งกรมพยาบาลขึ้น เพื่อดูแลกิจการศิริราชพยาบาลสืบแทนคณะกรรมการฯ ซึ่งพ้นหน้าที่ไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๒  กรมพยาบาลได้เข้าอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกรมพยาบาล

สร้างโรงเรียนแพทยากร

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกิจการสำคัญด้านการแพทย์เกิดขึ้นหลายอย่างได้แก่ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ สร้างโรงเรียนแพทยากรขึ้นที่ศิริราชพยาบาล โดยมีหลักสูตรการเรียนทั้งวิชาแพทย์แผนตะวันตกและแผนไทย และมีการจัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นที่ ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี เปิดรับคนไข้เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ นอกจากนั้น ยังมีการริเริ่มจัดทำหนองฝีที่ใช้สำหรับปลูกฝีขึ้นในประเทศ มีการริเริ่มระบบประปาด้วยการขุดคลองเพื่อสูบน้ำสำหรับการบริโภคใช้สอย และทรงมอบที่ดินบนเกาะกลาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๔๐๐ ไร่ในการดำเนินงานก่อตั้งสถานพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรก สถานพยาบาลดังกล่าวต่อมาเรียกว่า สถาบันแมคเคน

            จัดทำตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง

มีการชำระตรวจทานคัมภีร์แพทย์ต่างๆ รวบรวมจัดทำขึ้นเรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ประกอบด้วยคัมภีร์แพทย์ ๑๐ คัมภีร์ คือ พระคัมภีร์ปฐมจินดา พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย พระคัมภีร์มหาโชตรัต พระคัมภีร์ชวดาร พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์มุจฉาปักขัณฑา พระคัมภีร์ตักกสิลา พระคัมภีร์กระษัย และพระคัมภีร์สรรพคุณ นับเป็นตำราการแพทย์แผนไทยฉบับมาตรฐานฉบับแรกสุด มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องโรค การรักษาและยาที่ใช้

ขยายการสาธารณสุขไปยังหัวเมืองต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการสาธารณสุขออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ทรงจัดให้มีหมอหลวงออกไปปลูกฝีตามหัวเมือง รวมทั้งมีการจัดตั้งหมอหลวงประจำเมืองขึ้นในมณฑลเทศาภิบาลเมืองละหนึ่งนาย มีการจัดตั้งโอสถศาลาเพื่อจำหน่ายยาราคาถูกให้กับราษฎร ตามหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองอุตรดิตถ์ เมืองอุทัยธานี  เมืองปราจีนบุรี แต่ต้องยกเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดให้มีแพทย์ประจำตำบล นอกจากจะทำหน้าที่ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษและจำหน่ายยาโอสถสภาแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นผู้จดทะเบียนเกิด ตาย สำหรับการทำสำมะโนประชากรด้วย นอกจากนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีการตั้งกรมสุขาภิบาลและสนับสนุนการสุขาภิบาลออกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อรักษาความสะอาดและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อกาฬโรค โดยให้มีการทำลายขยะมูลฝอย กำจัดเว็จ ห้ามปลูกบ้านในที่เป็นเหตุให้เกิดโรค ห้ามขนย้ายสิ่งโสโครก เป็นต้น

 

 

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓– ๒๔๖๘)

        พัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข

ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการตามพระราชดำริหลายประการ เริ่มจากทรงสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินทุนของสภาอุณาโลมแดงในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงสถาปนาปาสตุรสภาเพื่อบำบัดโรคกลัวน้ำ และสร้าง
วชิรพยาบาล  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดต่างๆ มีสถานที่รักษาผู้ป่วยและจำหน่ายยาเรียกว่า
โอสถสภา” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุขศาลา มีการจัดทำ ยาตำราหลวง” 
8 ขนาน จำหน่ายให้ประชาชนและนำรายได้มาจัดหายาเพิ่มขึ้นเพื่อให้การสังเคราะห์ผู้ยากไร้

ปรับปรุงการศึกษาแพทย์

ปีพ.ศ. ๒๔๕๙ มีการเปลี่ยนชื่อกรมพยาบาลเป็นกรมประชาภิบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยเพิ่มการสอนวิชาทางคลินิกและการฝึกหัดรักษาพยาบาลคนไข้ให้มากขึ้นและได้ยกเลิกการสอนวิชาการแพทย์แผนไทยเนื่องจากลักษณะการสอนไม่เข้ากัน และหาครูแพทย์ไทยที่มีความรู้ดีและเต็มใจถ่ายทอดวิชาไม่ได้ ในปีต่อมา ทรงตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบก และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงรวมกิจการแพทย์และการสุขาภิบาลซึ่งยังแยกอยู่ภายใต้ ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาล และตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน โดยกรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นอธิบดีพระองค์แรก

จัดตั้งสถานเสาวภา (พ.ศ. ๒๔๖๓)

พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการก่อตั้งสถานเสาวภาและนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากล     เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการตั้งกองอนุสภากาชาด และโรงเรียนนางพยาบาลของสภากาชาด และในพ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เป็นการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเพื่อ ไม่ให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนจากการประกอบการของผู้ที่ไม่มีความรู้และไม่ได้ฝึกหัด ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น พระราชบัญญัติสถานพยาบาลพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ และพระราชบัญญัติวิชาชีพสาขา ต่างๆ

ตั้งสำนักงานคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง

พ.ศ. ๒๔๖๖ มีคนป่วยโรคเรื้อนในกรุงเทพอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ผู้ป่วยหลายรายขาดที่พักอาศัยและสถานบำบัดโรค โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี ทรงพิจารณาเห็นว่าสถาบำบัดโรคเรื้อนแห่งเดียวไม่เพียงพอต่อการสงเคราะห์ผู้ป่วย ทรงมีพระราชดำริให้สภากาชาดสยามจัดตั้งสำนักคนป่วยโรคเรื้อน ขึ้นในบริเวณป้อมปู่เจ้าสิงพราย ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ก่อสร้างเสร็จวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เรียกว่า สถานคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง

นิสิตแพทย์ออกไปช่วยปราบไข้ทรพิษ (พ.ศ. ๒๔๖๖)

            นิสิตแพทย์ปีที่ ๑ และปีที่ ๒ ไปช่วยปราบไข้ทรพิษที่ระบาดในกรุงเทพฯ และธนบุรี ตามคำขอของกรมสาธารณสุขเป็นเวลา ๒ เดือน

            ศ.นพ. จี. เอลลิส กลับมาทำหน้าที่ที่ศิริราชในฐานะผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

            ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ศ.นพ.จี.เอลลิส กลับมาสู่ศิริราชอีกครั้งหนึ่งในฐานะผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสอน (ต่อมาเป็นคณบดี) และเป็นศาสตราจารย์พยาธิวิทยาด้วย การช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มีดังนี้

         ๑. จัดหลักสูตรใหม่ให้ได้มาตรฐานการศึกษาแพทย์ของสหรัฐอเมริกา รับนิสิตเตรียมแพทย์จากผู้สำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์เท่านั้น แล้วเรียนอีก ๖ ปี

         ๒. ส่งศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศมาจัดการเรียนการสอน

         ๓. สร้างโรงพยาบาลศิริราชใหม่ โดยมูลนิธิและรัฐบาลไทย ออกเงินฝ่ายละครึ่ง

         ๔. จัดหาอุปกรณ์การเรียนและการรักษาพยาบาล

         ๕. ส่งอาจารย์ชาวไทยไปเรียนในต่างประเทศเพื่อกลับมาทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ

            ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน นพ.คาร์เตอร์ ผู้ตรวจการภาคตะวันออกของมูลนิธิฯ เข้ามาทำความตกลงเรื่องการสอนวิชาเตรียมแพทย์

           กรมสาธารณสุข จัดตั้งกองอนามัย

          กรมสาธารณสุขได้ปราบปรามพยาธิปากขอ และไข้มาเลเรีย ที่เป็นปัญหา จนทำให้หันมามุ่งงานด้านการรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองอนามัย เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ และแบ่งงานออกเป็น แผนกประชานามัยพิทักษ์ และแผนกอนามัยศึกษา

          สร้างส้วมซึม

          มีการสร้างส้วมซึมเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๖๗ โดยการคิดค้นของพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี)

          กรมขุนสงขลานครินทร์ดำรงตำแหน่งอธิบดีมหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๖๗)

       สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีมหาวิทยาลัย และทรงช่วยสอนชีววิทยาวิชากายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์

          โรงพยาบาลสภากาชาดไทยเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลชั้นสูง

     โรงพยาบาลสภากาชาดไทย ได้เปิดสอนหลักสูตรวิชาการพยาบาลสาธารณสุขขั้นสูง ในปีพ.ศ. ๒๔๖๗ ชื่อ โรงเรียนนางสุขาภิบาล” กองอนามัยสภากาชาด เป็นหลักสูตร ๖ เดือน เพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่พยาบาลสาธารณสุข ไปปฏิบัติงานสถานีอนามัย ซึ่งสภากาชาดได้ตั้งขึ้นหลายแห่ง หลักสูตรดังกล่าวระงับไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๗) 

             การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

ทรงให้ตรากฎหมายเสนาบดีโดยแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ  และได้มีการกำหนดว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ที่มีความรู้ตามตำราของหลัก วิชาการที่เป็นสากลนิยม มีการศึกษาตรวจค้น และทดลองในทางวิทยาศาสตร์ ส่วนผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ คือ ผู้ที่อาศัยความความสังเกต ความชำนาญที่ได้จากการสืบต่อกันมา หรืออาศัยตำราที่มีมา ตั้งแต่โบราณและไม่ได้ดำเนินตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

            จัดตั้งสภาการแพทย์ และปรับปรุงส่วนบริหารราชการ

ทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้ง สภาการแพทย์” ขึ้นอยู่กับกรมสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  นอกจากนี้ ยังมีกาiปรับปรุงส่วนบริหารราชการใหม่ โดยกรมสาธารณสุขแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง คือ กองบัญชาการ กองการเงิน กองที่ปรึกษา กองบรรณาธิการ กองสุขาภิบาล กองวิศวกรรม กองสุขภาพ กอง โอสถศาลา กองยาเสพติดให้โทษ โรงพยาบาลคนเสียจริต กองส่งเสริมสุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร และวชิรพยาบาล

โรงพยาบาลโรคเรื้อนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

คณะมิชชันนารี โดยนายแพทย์เอ็ดวิน บี แม็คดาเนียล ได้จัดตั้งโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ตำบล บ้านชะเอียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ปีละ ๔
,๐๐๐ บาท

 จัดกรมกองภายในกรมสาธารณสุขใหม่ เป็น ๖ กอง

 ในปีพ.ศ.๒๔๖๘ มีการปรับปรุงองค์กรภายในกรมสาธารณสุข แบ่งส่วนราชการเป็น ๖ กอง 
คือ กองประชากร กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล และกองสุขาภิบาล ซึ่งการบริการสาธารณสุขมุ่งเน้นการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก

 กรมสาธารณสุขแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง

 

ในปีพ.ศ.๒๔๖๙ กรมสาธารณสุขได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงส่วนบริหารราชการใหม่ โดยแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง คือ กองบัญชาการ กองการเงิน กองที่ปรึกษา กองบรรณาธิการ กองบุราภิบาล กองวิศวกรรม กองสุขภาพ กองโอสถสภา สองยาเสพติดให้โทษ โรงพยาบาลคนเสียจริต กองส่งเสริมสุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร และวชิรพยาบาล