โครงการพัฒนาระบบงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐

โครงการพัฒนาระบบงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

หลักการและเหตุผล

โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ริเริ่มมาจากโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๕ เพื่อรวบรวม จัดเก็บเอกสารที่มีคุณค่าอันเป็นแหล่งความรู้และสำนึกทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย การดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการฯ ได้รวบรวมเอกสารสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีเอกสารจำนวนมากกว่า ๔๐,๐๐๐ แผ่น สื่อโสตทัศน์และรูปภาพประมาณ ๕,๐๐๐ รายการ หรือกองสุขศึกษา (ส.) มีสื่อโสตทัศน์จำนวนมากกว่า ๕๕,๐๐๐ ชิ้น ฟิล์มเนกาทีฟกว่า ๔,๐๐๐ ม้วน ซึ่งคิดเป็นภาพไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ภาพ และฟิล์มภาพยนตร์กว่า ๒๐๐ ม้วน เอกสารของ “กลุ่มเพื่อนมหิดล” ที่มีจำนวนเอกสารมากกว่า ๑๓,๐๐๐ แผ่น สื่อโสตทัศน์และรูปภาพประมาณ ๕๐๐ รายการ นอกจากนี้ยังมีชุดเอกสารของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิ   “เข้าถึงเอดส์” เป็นต้น เอกสารส่วนบุคคลของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว โดยมีเอกสารมากกว่า ๑๕๖,๐๐๐ แผ่น สื่อโสตทัศน์จำนวนมาก ได้แก่ ฟิล์มกระจก ฟิล์มสไลด์ โดยเฉพาะฟิล์มภาพยนตร์การผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามปราจีน-บุรี ทีมีม้วนเดียวในโลก นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช  นายแพทย์นัดดา ศรียาภัย เป็นต้น ตลอดจนเอกสารเกี่ยวกับระบบสุขภาพไทยทั้งเอกสารประเภทกระดาษ ภาพถ่าย ฟิล์มกระจก สื่อโสตทัศนูปกรณ์ ฟิล์ม สไลด์ แผ่นเสียง แผนที่ และแบบแปลน หรือเอกสารอ้างอิงต่างๆ เป็นต้น         จึงจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งยวดเพื่อนำมาประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ อนุรักษ์ เพื่อเผยแพร่ และนำมาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ต่อไป รวมทั้งเปิดให้บริการเอกสารจดหมายเหตุแก่นักวิจัยและคนทั่วไป ปัจจุบันโครงการ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น ๓ อาคาร ๑๐ ชั้น วิทยาลัยพยาบาลบำราศนราดูร (พ.ศ. ๒๕๕๑ - พ.ศ. ๒๕๕๙) ซึ่งมีพื้นที่จำกัดเพียง ๒๑๖ ตารางเมตร ไม่สอดคล้องกับปริมาณเอกสารที่รวบรวมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึงประมาณ ๕๔๑,๔๒๖ ชิ้น

เนื่องในวาระอันเป็นมงคลการเฉลิมฉลองงาน ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้มีการปรับจากโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย เป็น หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดเก็บและรักษาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่ ณ อาคารคลังพัสดุ  ชั้น ๑ และ ๔ ขนาดพื้นที่ประมาณ ๑, ๐๐๐ ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานโครงการ   หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุด ระบบการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุฯ มีมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งข้อมูลเอกสาร ที่จะส่งมอบให้หอจดหมายเหตุฯ อย่างเป็นระบบต่อเนื่องทุกๆ ปี ปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาเป็นจดหมายเหตุดิจิตอลเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าถึงโดยเสมอภาค ตลอดจนการปรับปรุงข้อมูล  เพื่อจัดแสดงเนื้อหาของเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุที่สำคัญด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และวัฒนธรรมสุขภาพของประเทศ จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงาน สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ จึงจัดทำโครงการพัฒนาระบบงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ ปีงบประมาณ    พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อสำรวจเอกสารของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคีด้านสุขภาพให้เป็นระบบ       และวางรากฐานให้หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานและเปิดให้บริการทันพิธีเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย ที่จะครบรอบในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

 

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อรวบรวมวิเคราะห์ ประเมินคุณค่า จัดเก็บอนุรักษ์ และให้บริการเอกสารที่มีคุณค่าของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข หลักฐานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมสุขภาพตามมาตรฐานการดำเนินงานหอจดหมายเหตุ

๒. เพื่อพัฒนางานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขให้สอดคล้องและทันเหตุการณ์ในวาระการจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี การสาธารณสุขไทย

๓. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ประวัติศาสตร์สาธารณสุขให้เป็นจดหมายเหตุดิจิตอล สำหรับให้บริการแก่สาธารณชนได้สะดวกและเข้าถึงง่าย

๔. เพื่อเอื้ออำนวยและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุขและภาคีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในการเตรียมการจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

 

ระยะเวลาดำเนินการ

มกราคม ๒๕๖๐ – กันยายน ๒๕๖๐

 

วิธีดำเนินการ/กิจกรรม

          ตามแผนปฏิบัติการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ดังรายละเอียดดังนี้

๑) การจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปีฯ ระยะเวลา ๑ วัน (จำนวน ๔๐ คน)

๒) การจัดประชุมเพื่อเตรียมการจัดทำหนังสือเวลา จำนวน ๒ ครั้งๆ ละ ๑ วัน (จำนวน ๒๕ คน)

๓) ลงพื้นที่ติดตามรวบรวมผลงานประวัติศาสตร์สุขภาพจากบุคคลสำคัญ และหน่วยงานเก่า รวม ๑๕ ครั้งๆ ละ ๑ วัน (จำนวน ๕ คน)

๔) โครงการจัดทำฐานข้อมูลประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์

๔.๑ จัดจ้างรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์การแพทย์การสาธารณสุขไทยเพื่อจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์กลางปรับปรุงนิทรรศการหอประวัติศาสตร์ จำนวน ๑๕ ครั้งๆ ละ ๑ วัน

๔.๒ จัดจ้างปรับปรุงนิทรรศการในหอประวัติศาสตร์

                     ๔.๓ จัดจ้างปรับปรุงเว็บไซต์และการสื่อสารออนไลน์เพื่อเผยแพร่       

งบประมาณ

งบดำเนินงานสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

              สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

สถานที่ดำเนินงาน

โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ ที่ ชั้น ๑ และ ๔ ของอาคารคลังพัสดุเดิม ตั้งอยู่ที่ ซอยสาธารณสุข ๖ ภายในกระทรวงสาธารณสุข 

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. เป็นที่รวบรวมเอกสารที่มีคุณค่าของหน่วยงาน คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมสุขภาพ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย สามารถจัดบริการแก่สาธารณชนได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการดำเนินงานหอจดหมายเหตุ

๒. เกิดการพัฒนางานหอจดหมายเหตุให้สอดคล้องและทันเหตุการณ์งาน ๑๐๐ ปี สาธารณสุขไทย (ครบรอบวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) ในวาระการเฉลิมฉลองการสถาปนากระทรวงสาธารณสุขในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีร่วมกันของหน่วยงาน องค์กร รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ

๓. ได้ฐานข้อมูลงานจดหมายเหตุดิจิตอลในการวางรากฐานการให้บริการค้นคว้าแก่สาธารณะ

 

 

 

       ลงชื่อ ...................................................... ผู้เสนอโครงการ

                                                (นายแพทย์โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์)

                                               ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

 

 

                                         ลงชื่อ ................................................. ผู้อนุมัติโครงการ

                                                   (นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี)

                                            ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์