ยุคก่อนประวัติศาสตร์


 


       ๓,๐๐๐ ปี ก่อนมนุษย์ยุคปัจจุบัน

         มนุษย์กับความป่วยไข้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

           ข้อมูลจากการศึกษาโครงกระดูกที่ขุดค้นพบในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่โคกพนมดี ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ของนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยากายภาพทำให้เราทราบว่า เด็กๆ  ในชุมชนแห่งนี้ต้องเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร เด็กที่เกิดมากว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ ๖๐) ไม่มีชีวิตรอดไปถึงสองขวบ ส่วนที่รอดมาได้โดยมากก็จะตายในอายุราว ๆ ๓๐ ปี จะหาคนที่รอดจนถึงอายุ ๕๐ ปีสักคนก็เป็นเรื่องยาก หญิงสาวเริ่มเป็นแม่คนตั้งแต่อายุ ๑๙ และตั้งครรภ์บ่อยเพื่อชดเชยเด็กที่ตายไป นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นทั้งโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย โรคข้อต่ออักเสบเรื้อรัง ฟันผุ เหงือกอักเสบ ชุมชนที่อยู่อาศัยยังแวดล้อมไปด้วยโรคมาเลเรีย บิด อหิวาตกโรค พร้อมกับถูกเบียดเบียนด้วยพยาธิทั้งตัวกลมตัวตืด สภาพดังกล่าวเป็นสภาพสุขภาพของชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

           ในด้านการเยียวยารักษาโรคในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น ในประเทศไทย มีการพบภาพวาดสีที่แสดงถึงความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติและพิธีกรรมขึ้นเพื่อการเยียวยาความป่วยไข้ ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนสีที่เขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา นอกจากการรักษาโดยพิธีกรรมและความเชื่อเหนือธรรมชาติแล้ว ยังพบการรักษาความเจ็บป่วยด้านวิธีการเจาะกะโหลกเป็นรูกลมจากหลักฐานการขุดค้นทางด้านโบราณคดีในหลายพื้นที่ เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าการเจาะกะโหลก หรือ trepanning นี้เป็นไปเพื่อรักษาโรคปวดศีรษะ หรือโรคลมบ้าหมู โดยการเจาะปลดปล่อยสิ่งไม่ดีออกจากกะโหลกศีรษะ

           การเจาะกะโหลกให้เป็นรูทะลุนี้พบได้ในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก  รูบนกะโหลกที่พบมีลักษณะเป็นรูกลม แสดงว่า เป็นการเจาะโดยใช้เครื่องมือบางชนิด (ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ) และการที่รูเจาะมีขอบเรียบแสดงว่าผู้ที่ถูกเจาะรูที่กะโหลกมีชีวิตอยู่หลังจากได้รับการเจาะยาวนานพอที่ขอบรอยเจาะกะโหลกที่เป็นบาดแผลนั้นเกิดการเยียวยาจนเป็นขอบที่เรียบมน

 

ภาพตัวอย่างร่องรอยการเจาะกะโหลกเพื่อรักษาความเจ็บป่วย (Trepanning)

ซึ่งพบได้หลายแห่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์

 

              โครงกระดูกของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายที่พบว่าเปิดเผยให้ทราบว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีอายุสั้น เฉลี่ยไม่เกิน ๓๐ ปี ยังไม่พบศพใดที่มีอายุเกิน ๕๐ ปี และมีอัตราการตายของทารกสูงมาก แต่ไม่ปรากฏว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขาดแคลนอาหาร แต่โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นกันมากคือ โรคโลหิตจาง (Anemia) ศาสตราจารย์ นพ.สุด แสงวิเชียรและคณะได้ทำการศึกษาสำรวจที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี บ้านเก่า จ. กาญจนบุรี พบโครงกระดูกที่มีลักษณะป่วยด้วยโรคโลหิตจางเรื้อรัง นอกจากนี้ กระดูกของมนุษย์ที่ขุดค้นจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ยังพบร่องรอยของโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบ (Bone Arthritis หรือ Osteoarthritis) โรคเนื้องอก (Tumor) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โลหิตจาง (Anemia) และยังพบโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น ฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ (Periodontal Disease) การพบฟันผุอาจแสดงว่าอาหารที่รับประทานมีส่วนประกอบของแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ปนอยู่มาก

 

            มนุษย์ได้สั่งสมความรู้เรื่องโรค อาการของโรค สมมติฐานโรค  และวิธีรักษาโรคมาเป็นลำดับ จนเกิดองค์ความรู้ด้านการแพทย์ขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดทราบว่าช่วงเวลาของการสั่งสมความรู้ยาวนานเท่าใด อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์พวกแรกที่เร่ร่อนอยู่ในดินแดนแถบนี้เมื่อราว  ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ก็เป็นได้

 

 

           พุทธศตวรรษที่ ๖ - ๘

           การรับวัฒนธรรมจากดินแดนภายนอก   

เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ มีการรับอารยธรรมจากภายนอก วิชาการแพทย์ของอินเดียที่มีความเจริญก้าวหน้ากว่าได้เข้ามามีบทบาทต่อความรู้ ความเชื่อ และวิธีการรักษาโรคของชุมชน ในขั้นต้นนั้น คงมีผู้รู้ทางวิชาการแพทย์เข้ามาทำการรักษาโรคในกลุ่มของตนก่อน  หลังจากนั้นจึงค่อยๆ รักษาโรคให้กับคนท้องถิ่น เมื่อเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย  ทำให้เกิดการผสมผสานกับการแพทย์แบบพื้นเมือง กลายเป็นการแพทย์ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม และทรัพยากรของตนเอง  

 

           พุทธศตวรรษที่  ๑๒ - ๑๖ 

           การแพทย์สมัยทวารวดี    

ทวารวดี เป็นรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิหินยานเจริญขึ้นทางภาคกลางของประเทศไทย และ ได้แผ่ขยายวัฒนธรรมลงสู่ภาคใต้ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  ๑๒-๑๖ 

สันนิษฐานว่าในยุคนั้นมีหมอยารักษาโรคทั่วไปด้วยพืชสมุนไพร ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี  อาทิ พบหินบดเป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้ในการบดเครื่องยา หรือเครื่องเทศเพื่อการผลิตยา  หินบดยาในสมัย  ทวารวดี บางชิ้นมีการบันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา  จึงเชื่อว่าวัดน่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการรักษา โรคให้กับประชาชนอีกแห่งหนึ่ง หรืออาจมีการน้อมนำเอาอำนาจพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งประกอบในการ  รักษาโรค แข่งขันกับความเชื่อในอำนาจของภูตผี ปีศาจ ที่มีมาแต่เดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์  

 

             พุทธศตวรรษที่  ๑๕-๑๘ 

            พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

 พุทธศตวรรษที่  ๑๕-๑๘ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒) ได้มีการจัดตั้ง สถานพยาบาลขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นการกุศลสำหรับคนทั่วไป  โดยตั้งกระจายทั่วพระราชอาณาจักรเป็น จำนวน ๑๐๒ แห่ง เรียกว่า อโรคยา ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับประชาชน มีพระโพธิสัตว์แห่งการเยียวยารักษาโรคประจำอยู่ ซึ่งตามคติพุทธแบบมหายานมีอยู่ ๓ องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระไภสัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นผู้ประสาท ความไม่มีโรคแก่ประชาชน พระโพธิสัตว์อีกสององค์เป็นพระชิโนรส ได้แก่ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และ พระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดซึ่งโรคของประชาชน

             แม้การเยียวยารักษาโรคในอโรคยาศาลจะเป็นไปตามคติทางศาสนา แต่การรักษาความเจ็บป่วยก็ไม่ได้อาศัยแต่เฉพาะการบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในจารึกที่พบในเมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิและนครราชสีมาระบุถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอาหารและสมุนไพรที่มีทั้ง กฤษณา เทียนขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เนยใส บุนนาค จันทน์เทศ ผลกระวาน กำยาน มหาหิงคุ์ ไม้จันทน์ พริกไทย และดีปลี เป็นต้น

 

ปราสาทตาเมือนโต๊ด  เชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาลหรือสถานรักษาพยาบาลของชุมชน
ที่ถูกสร้างตามเส้นทางคมนาคมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

สำหรับตัวอาคารของอโรคยาศาลนั้นประกอบด้วย ปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัยซึ่งสร้างขึ้นด้วยศิลาแลง หันหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัยมักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือที่เรียกว่า บาราย หรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลง ในประเทศไทย มีการพบอโรคยาศาลหลายแห่ง เช่น กุฏิฤๅษีเมืองต่ำ บ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, ปรางค์กู่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด, กู่สันตรัตน์ เมืองนครจัมปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

 เมื่ออาณาจักรกัมพูชาเสื่อมอำนาจลงในราวปลายพุทธศตวรรษที่  ๑๘  สถานพยาบาลจึงขาดการสืบทอดไปตั้งแต่บัดนั้น

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑
หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข