สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง-ปัจจุบัน

 

 

      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)

               การจัดตั้งโรงพยาบาลแบบถาวร

แต่เดิมนั้นประเทศไทยไม่มีโรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาราษฎรที่ป่วยไข้ เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว (เรียกกันว่า โรงพยาบาลเอกเทศ”) เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยถึง ๔๘ แห่งในกรุงเทพฯ เมื่อโรคระบาดสงบลง จึงยกเลิกไป  การจัดตั้งโรงพยาบาลแบบถาวรเกิดขึ้นในอีก ๕ ปีต่อมา โดยในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการคณะหนึ่งชื่อว่า คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” ขึ้น มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศิริวัชสังกาศเป็นองค์ประธาน เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยได้พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลศิริราช” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากโรคบิด และต่อมาได้ทรงตั้งกรมพยาบาลขึ้น เพื่อดูแลกิจการศิริราชพยาบาลสืบแทนคณะกรรมการฯ ซึ่งพ้นหน้าที่ไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๒  กรมพยาบาลได้เข้าอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกรมพยาบาล

สร้างโรงเรียนแพทยากร

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกิจการสำคัญด้านการแพทย์เกิดขึ้นหลายอย่างได้แก่ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ สร้างโรงเรียนแพทยากรขึ้นที่ศิริราชพยาบาล โดยมีหลักสูตรการเรียนทั้งวิชาแพทย์แผนตะวันตกและแผนไทย และมีการจัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นที่ ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี เปิดรับคนไข้เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ นอกจากนั้น ยังมีการริเริ่มจัดทำหนองฝีที่ใช้สำหรับปลูกฝีขึ้นในประเทศ มีการริเริ่มระบบประปาด้วยการขุดคลองเพื่อสูบน้ำสำหรับการบริโภคใช้สอย และทรงมอบที่ดินบนเกาะกลาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๔๐๐ ไร่ในการดำเนินงานก่อตั้งสถานพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรก สถานพยาบาลดังกล่าวต่อมาเรียกว่า สถาบันแมคเคน

            จัดทำตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง

มีการชำระตรวจทานคัมภีร์แพทย์ต่างๆ รวบรวมจัดทำขึ้นเรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ประกอบด้วยคัมภีร์แพทย์ ๑๐ คัมภีร์ คือ พระคัมภีร์ปฐมจินดา พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย พระคัมภีร์มหาโชตรัต พระคัมภีร์ชวดาร พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์มุจฉาปักขัณฑา พระคัมภีร์ตักกสิลา พระคัมภีร์กระษัย และพระคัมภีร์สรรพคุณ นับเป็นตำราการแพทย์แผนไทยฉบับมาตรฐานฉบับแรกสุด มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องโรค การรักษาและยาที่ใช้

ขยายการสาธารณสุขไปยังหัวเมืองต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการสาธารณสุขออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ทรงจัดให้มีหมอหลวงออกไปปลูกฝีตามหัวเมือง รวมทั้งมีการจัดตั้งหมอหลวงประจำเมืองขึ้นในมณฑลเทศาภิบาลเมืองละหนึ่งนาย มีการจัดตั้งโอสถศาลาเพื่อจำหน่ายยาราคาถูกให้กับราษฎร ตามหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองอุตรดิตถ์ เมืองอุทัยธานี  เมืองปราจีนบุรี แต่ต้องยกเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดให้มีแพทย์ประจำตำบล นอกจากจะทำหน้าที่ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษและจำหน่ายยาโอสถสภาแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นผู้จดทะเบียนเกิด ตาย สำหรับการทำสำมะโนประชากรด้วย นอกจากนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีการตั้งกรมสุขาภิบาลและสนับสนุนการสุขาภิบาลออกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อรักษาความสะอาดและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อกาฬโรค โดยให้มีการทำลายขยะมูลฝอย กำจัดเว็จ ห้ามปลูกบ้านในที่เป็นเหตุให้เกิดโรค ห้ามขนย้ายสิ่งโสโครก เป็นต้น

 

 

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓– ๒๔๖๘)

        พัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข

ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการตามพระราชดำริหลายประการ เริ่มจากทรงสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินทุนของสภาอุณาโลมแดงในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงสถาปนาปาสตุรสภาเพื่อบำบัดโรคกลัวน้ำ และสร้าง
วชิรพยาบาล  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดต่างๆ มีสถานที่รักษาผู้ป่วยและจำหน่ายยาเรียกว่า
โอสถสภา” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุขศาลา มีการจัดทำ ยาตำราหลวง” 
8 ขนาน จำหน่ายให้ประชาชนและนำรายได้มาจัดหายาเพิ่มขึ้นเพื่อให้การสังเคราะห์ผู้ยากไร้

ปรับปรุงการศึกษาแพทย์

ปีพ.ศ. ๒๔๕๙ มีการเปลี่ยนชื่อกรมพยาบาลเป็นกรมประชาภิบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยเพิ่มการสอนวิชาทางคลินิกและการฝึกหัดรักษาพยาบาลคนไข้ให้มากขึ้นและได้ยกเลิกการสอนวิชาการแพทย์แผนไทยเนื่องจากลักษณะการสอนไม่เข้ากัน และหาครูแพทย์ไทยที่มีความรู้ดีและเต็มใจถ่ายทอดวิชาไม่ได้ ในปีต่อมา ทรงตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบก และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงรวมกิจการแพทย์และการสุขาภิบาลซึ่งยังแยกอยู่ภายใต้ ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาล และตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน โดยกรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นอธิบดีพระองค์แรก

จัดตั้งสถานเสาวภา (พ.ศ. ๒๔๖๓)

พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการก่อตั้งสถานเสาวภาและนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากล     เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการตั้งกองอนุสภากาชาด และโรงเรียนนางพยาบาลของสภากาชาด และในพ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เป็นการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเพื่อ ไม่ให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนจากการประกอบการของผู้ที่ไม่มีความรู้และไม่ได้ฝึกหัด ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น พระราชบัญญัติสถานพยาบาลพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ และพระราชบัญญัติวิชาชีพสาขา ต่างๆ

ตั้งสำนักงานคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง

พ.ศ. ๒๔๖๖ มีคนป่วยโรคเรื้อนในกรุงเทพอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ผู้ป่วยหลายรายขาดที่พักอาศัยและสถานบำบัดโรค โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี ทรงพิจารณาเห็นว่าสถาบำบัดโรคเรื้อนแห่งเดียวไม่เพียงพอต่อการสงเคราะห์ผู้ป่วย ทรงมีพระราชดำริให้สภากาชาดสยามจัดตั้งสำนักคนป่วยโรคเรื้อน ขึ้นในบริเวณป้อมปู่เจ้าสิงพราย ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ก่อสร้างเสร็จวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เรียกว่า สถานคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง

นิสิตแพทย์ออกไปช่วยปราบไข้ทรพิษ (พ.ศ. ๒๔๖๖)

            นิสิตแพทย์ปีที่ ๑ และปีที่ ๒ ไปช่วยปราบไข้ทรพิษที่ระบาดในกรุงเทพฯ และธนบุรี ตามคำขอของกรมสาธารณสุขเป็นเวลา ๒ เดือน

            ศ.นพ. จี. เอลลิส กลับมาทำหน้าที่ที่ศิริราชในฐานะผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

            ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ศ.นพ.จี.เอลลิส กลับมาสู่ศิริราชอีกครั้งหนึ่งในฐานะผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสอน (ต่อมาเป็นคณบดี) และเป็นศาสตราจารย์พยาธิวิทยาด้วย การช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มีดังนี้

         ๑. จัดหลักสูตรใหม่ให้ได้มาตรฐานการศึกษาแพทย์ของสหรัฐอเมริกา รับนิสิตเตรียมแพทย์จากผู้สำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์เท่านั้น แล้วเรียนอีก ๖ ปี

         ๒. ส่งศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศมาจัดการเรียนการสอน

         ๓. สร้างโรงพยาบาลศิริราชใหม่ โดยมูลนิธิและรัฐบาลไทย ออกเงินฝ่ายละครึ่ง

         ๔. จัดหาอุปกรณ์การเรียนและการรักษาพยาบาล

         ๕. ส่งอาจารย์ชาวไทยไปเรียนในต่างประเทศเพื่อกลับมาทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ

            ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน นพ.คาร์เตอร์ ผู้ตรวจการภาคตะวันออกของมูลนิธิฯ เข้ามาทำความตกลงเรื่องการสอนวิชาเตรียมแพทย์

           กรมสาธารณสุข จัดตั้งกองอนามัย

          กรมสาธารณสุขได้ปราบปรามพยาธิปากขอ และไข้มาเลเรีย ที่เป็นปัญหา จนทำให้หันมามุ่งงานด้านการรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองอนามัย เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ และแบ่งงานออกเป็น แผนกประชานามัยพิทักษ์ และแผนกอนามัยศึกษา

          สร้างส้วมซึม

          มีการสร้างส้วมซึมเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๖๗ โดยการคิดค้นของพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี)

          กรมขุนสงขลานครินทร์ดำรงตำแหน่งอธิบดีมหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๖๗)

       สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีมหาวิทยาลัย และทรงช่วยสอนชีววิทยาวิชากายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์

          โรงพยาบาลสภากาชาดไทยเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลชั้นสูง

     โรงพยาบาลสภากาชาดไทย ได้เปิดสอนหลักสูตรวิชาการพยาบาลสาธารณสุขขั้นสูง ในปีพ.ศ. ๒๔๖๗ ชื่อ โรงเรียนนางสุขาภิบาล” กองอนามัยสภากาชาด เป็นหลักสูตร ๖ เดือน เพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่พยาบาลสาธารณสุข ไปปฏิบัติงานสถานีอนามัย ซึ่งสภากาชาดได้ตั้งขึ้นหลายแห่ง หลักสูตรดังกล่าวระงับไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๗) 

             การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

ทรงให้ตรากฎหมายเสนาบดีโดยแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ  และได้มีการกำหนดว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ที่มีความรู้ตามตำราของหลัก วิชาการที่เป็นสากลนิยม มีการศึกษาตรวจค้น และทดลองในทางวิทยาศาสตร์ ส่วนผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ คือ ผู้ที่อาศัยความความสังเกต ความชำนาญที่ได้จากการสืบต่อกันมา หรืออาศัยตำราที่มีมา ตั้งแต่โบราณและไม่ได้ดำเนินตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

            จัดตั้งสภาการแพทย์ และปรับปรุงส่วนบริหารราชการ

ทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้ง สภาการแพทย์” ขึ้นอยู่กับกรมสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  นอกจากนี้ ยังมีกาiปรับปรุงส่วนบริหารราชการใหม่ โดยกรมสาธารณสุขแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง คือ กองบัญชาการ กองการเงิน กองที่ปรึกษา กองบรรณาธิการ กองสุขาภิบาล กองวิศวกรรม กองสุขภาพ กอง โอสถศาลา กองยาเสพติดให้โทษ โรงพยาบาลคนเสียจริต กองส่งเสริมสุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร และวชิรพยาบาล

โรงพยาบาลโรคเรื้อนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

คณะมิชชันนารี โดยนายแพทย์เอ็ดวิน บี แม็คดาเนียล ได้จัดตั้งโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ตำบล บ้านชะเอียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ปีละ ๔
,๐๐๐ บาท

 จัดกรมกองภายในกรมสาธารณสุขใหม่ เป็น ๖ กอง

 ในปีพ.ศ.๒๔๖๘ มีการปรับปรุงองค์กรภายในกรมสาธารณสุข แบ่งส่วนราชการเป็น ๖ กอง 
คือ กองประชากร กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล และกองสุขาภิบาล ซึ่งการบริการสาธารณสุขมุ่งเน้นการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก

 กรมสาธารณสุขแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง

 

ในปีพ.ศ.๒๔๖๙ กรมสาธารณสุขได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงส่วนบริหารราชการใหม่ โดยแบ่งกิจการออกเป็น ๑๓ กอง คือ กองบัญชาการ กองการเงิน กองที่ปรึกษา กองบรรณาธิการ กองบุราภิบาล กองวิศวกรรม กองสุขภาพ กองโอสถสภา สองยาเสพติดให้โทษ โรงพยาบาลคนเสียจริต กองส่งเสริมสุขาภิบาล กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร และวชิรพยาบาล

 

 

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. ๒๔๗๗ ๒๔๘๙)

         ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ       

ช่วงแรกของการบริหารแผ่นดินนั้น บริหารโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๑) ขึ้น เมื่อพบว่ามีโรคติดต่ออันตรายขณะนั้นหมายถึง กาฬโรค อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬนกนางแอ่นและไข้เหลืองและแสดงวิธีการแจ้งความเมื่อเกิดโรค การป้องกันและควบคุมโรค การป้องกันโรคตามพรมแดน และบทลงโทษสำหรับผู้ไม่แจ้งความ เป็นต้น  

ต่อมาประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ฉบับที่ ๒) เน้นกำหนดบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม และประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๓) เน้นให้อำนาจข้าหลวงในท้องที่และรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งการและแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดโรคติดต่อขึ้น ในขณะเดียวกันก็ให้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องป้องกันโรติดต่ออันตรายจากต่างประเทศ ที่ ๑/๒๔๗๙ เนื่องจากประเทศพม่ามีไข้ทรพิษระบาด ใครที่จะเดินทางจากประเทศพม่าเข้าเขตประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ต้องมีใบสำคัญในการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแสดงแก่เจ้าพนักงานสาธารณสุข มิฉะนั้นจะต้องให้บุคคลที่ปราศจากความต้านทานโรครับการปลูกฝีหรือรับการฉีดวัคซีน

โรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง

            ในรัชสมัยนี้ มีการจัดวางระเบียบราชการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่สำคัญ คือ
พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ขอโอนกิจการสำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดงจากสำนักกาชาดสยามมาดำเนินการเอง เพราะเห็นว่า เป็นโรคที่ประชาชนรังเกียจต้องควบคุมให้ดี โอนเสร็จสิ้นในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น
โรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง
มีหลวงพิจิตรภิสัชการ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

            กระทรวงการสาธารณสุข

ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ มีการรวมกรมสาธารณสุขและกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไว้ในกระทรวงการสาธารณสุข ถือเป็นการเรียกชื่อ การสาธารณสุขระดับกระทรวงครั้งแรก โดยแบ่งส่วนราชการกรมสาธารณสุขเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ๑) ราชการบริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย ๙ กอง ได้แก่ สำนักงานเลขานุกรม กองสถิติพยากรณ์ชีพ กองสุขศึกษา กองควบคุมโรคติดต่อ กองสุขาภิบาล กองอนามัยโรงเรียน กองอาหารและยา กองสงเคราะห์มารดาและเด็ก กองสาธารณสุขพระนคร ๒) ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ๑ ส่วน ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัด

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๗ เพิ่มราชการบริหารส่วนกลางมาอีกหนึ่งกอง เป็น ๑๐ กอง คือ กองควบคุม
ไข้มาลาเรีย ซึ่งมี ๓ แผนก คือ แผนกค้นคว้า แผนกกีตะเวชวิทยา และแผนกป้องกันและบำบัดไข้มาลาเรีย และราชการบริหารส่วนภูมิภาค แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ สาธารณสุขนครบาล หรือสาธารณสุขจังหวัด
และสาธารณสุขอำเภอ

ส่วนจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกระทรวงการสาธารณสุข
(ฉบับที่ ๒
) พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้นแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๕ ส่วน คือ สำนักงานเลขานุการกรม คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชกรรมศาสตร์ และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๘ มีพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกระทรวงการสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓) โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๕ ส่วนเท่าเดิม เปลี่ยนเพียงภาษาเขียนของหน่วยงาน กล่าวคือ  คณะเภสัชกรรมศาสตร์ เป็น คณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้น

            จุดเริ่มต้นวิชานิติเวชศาสตร์ในประเทศไทย

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นจุดเริ่มต้นของวิชานิติเวชศาสตร์ในประเทศไทย เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์แล้ว อาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลหลายคนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการชันสูตรพระบรมศพ มีการทดลองยิงศพ และพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก มีการไต่สวนต่อหน้าประชาชนที่เรียกกันว่า ศาลกลางเมืองใช้หลักวิชาการทางการแพทย์และหลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ และลงความเห็น

สงครามโลกครั้งที่ ๒ และภาวะขาดแคลนยา

ปัญหายาขาดแคลนมีมาต่อเนื่องจนถึงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕๒๔๘๖ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้แพร่ขยายเข้ามาในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ภายหลังสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ที่ทำวิจัยสมุนไพรเพื่อรักษาไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลสัตหีบ รัฐบาลจึงเล็งเห็นประโยชน์ของสมุนไพร และมีนโยบายให้โรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข นำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรค

 

 

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. ๒๔๙๘ - พ.ศ. ๒๕๕๙)  

                พระองค์ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพอนามัย  จึงทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งงานด้านการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ พระราชกรณียกิจของพระองค์ในช่วงแรกที่ทรงครองราชย์ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสาธารณสุข เช่น

              ๑. ทุนอานันทมหิดล มูลนิธิอานันทมหิดล พ.ศ. ๒๔๙๘

                  ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้ง มูลนิธิอานันทมหิดล” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาที่มีความสามารถได้ไปศึกษาต่อในระดับสูงในสาขาต่างๆ โดยที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ทั้งยังได้พระราชทานทุนให้กับนักเรียนแพทย์ไปเรียน ณ ต่างประเทศกลับมาเป็นแพทย์มีชื่อเสียงหลายคน จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนให้แก่นักศึกษาแพทย์เป็นประเดิมก่อน

              ๒. พระราชทานเงินสร้างอาคารโรงพยาบาลต่างๆ 

 

   ทรงพระราชทานรายได้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่เสด็จประพาสในที่ต่างๆ เป็นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างอาคารของสถานพยาบาล เช่น

-    อาคารผู้ป่วย โรงพยาบาลแพร่ จากการฉายภาพยนตร์ชุดเสด็จประพาสภาคเหนือ เมื่อ พ.ศ.  ๒๕๐๒  อาคาร “ราชสาทิส” โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี จากการฉายภาพยนตร์ชุดเสด็จประพาสภาคใต้ สร้างอาคารคนไข้พิเศษขึ้นและพระราชทานนามว่า “ราชสาทิสทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิด เมื่อ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓

-     อาคารวิจัยประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาท พญาไท จากการฉายภาพยนตร์ชุดเสด็จเยือน เวียตนาม อินโดนีเซีย และพม่า สมทบด้วยเงินที่มีผู้บริจาค เพื่อสร้างตึกวิจัยประสาทวิทยา และเสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

-    อาคารราชประชานุสรณ์ โรงพยาบาลปราจีนบุรี  จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดเสด็จเยือน ประเทศใกล้เคียง สมทบด้วยเงินสะสมของโรงพยาบาล เพื่อสร้างอาคาร “ราชประชานุสรณ์” อันเป็นนามพระราชทาน พ.ศ. ๒๕๐๔

-      อาคารราชทัย โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จากการฉายภาพยนตร์ชุดเสด็จเยือน เวียตนาม อินโดนีเซีย และพม่า  สมทบด้วยเงินที่พ่อค้าคหบดีบริจาคโดยพระราชกุศลและเงินงบประมาณของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสร้างอาคาร “ราชทัย” อันเป็นนามพระราชทาน ใน พ.ศ. ๒๕๐๕  

๓. การสนับสนุนงานป้องกันและควบคุมโรค

           พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ  โรควัณโรค ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้นำเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ไปแสดงในงานดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติ ของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  พร้อมกับพระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยาที่เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พร้อมทั้งบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลืองานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง 

ในปีพ.ศ.๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อสำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรคจนประสบความสำเร็จ วัคซีนดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ และองค์การยูนิเซฟได้นำไปใช้เพื่อการควบคุมโรคในหลายประเทศในเอเชียที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรค

ในด้านการรักษาวัณโรค พระองค์ทรงแสวงหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยขณะ
เสด็จฯ ไปประทับในสวิตเซอร์แลนด์ ทรงสั่งซื้อยาพาราแอมมิไนซาลิไซลิก แอซิค หรือ พีเอเอส ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคขนานที่๒ แต่ในขณะนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และส่งยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยในประเทศไทย วิทยาลัยแพทย์ทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา (
American College of Chest Physicians) จึงได้ทูลเกล้าถวายรางวัล Partnering for World Health เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙

โรคขาดสารไอโอดีน

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของพระองค์ ทรงพบว่าปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกนั้นยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ มีผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากที่เป็นโรคนี้และขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ พระองค์และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยในปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยนำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารหลายครั้ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเริ่มโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีการสำรวจข้อมูล ฝึกอบรมครูตำรวจตระเวนชายแดนให้ตรวจนักเรียน แนะนำการใช้ไอโอดีนหยดในน้ำและการใช้เกลือไอโอดีน จนสามารถแก้ไขปัญหาได้มากในสามปี 

โรคเรื้อน และสถาบันราชประชาสมาสัย

            พระองค์ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการรักษาป้องกันโรคเรื้อนแก่ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัย ในเวลานั้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน  ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งงานปราบโรคเรื้อนให้เร็วขึ้นกว่ากว่าแผนที่กระทรวงฯ เสนอมา โดยให้เร่งการค้นหาผู้ป่วยเพื่อมารับการรักษา ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดลและจากผู้ร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกจำนวนมาก เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาโรคเรื้อนในบริเวณของโรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง และเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "สถาบันราชประชาสมาสัย” เป็นหน่วยงานในสังกัดกองโรคเรื้อน 

ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดอาคารที่สร้างเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓  พร้อมกับรับเอากองทุนราชประชาสมาสัยที่ตั้งต้นด้วยเงินเหลือจ่ายจากการก่อสร้างอาคารพระบำราศนราดูร มาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยกขึ้นเป็น “มูลนิธิราชประชาสมาสัย” เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๐๔  ทรงอธิบายความหมายของคำว่า "ราชประชาสมาสัย" ว่าหมายถึง "พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน" ดังตราของมูลนิธิฯ ที่เป็นรูปดอกบัวสีเหลืองอันเปรียบเหมือนตัวแทนของพระองค์ท่าน บานอยู่กลางน้ำที่เปรียบเหมือนตัวแทนของประชาชน ส่อนัยถึงการพึ่งพาอาศัยกัน

๔. โครงการตามพระราชดำริด้านการแพทย์

โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ในช่วงแรกเป็นโครงการในลักษณะนำร่อง มีพื้นที่ขอบข่ายงานจำกัด ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทดลองดำเนินงาน ได้แก่

๔.๑ หน่วยแพทย์พระราชทาน และ โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน

โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์ไปยังท้องถิ่นกันดาร เพื่อให้การตรวจรักษาราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานทำการตรวจรักษาโรคฟันร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จไปทรงเยี่ยมโครงการชาวเขา ได้ทรงพบว่า ราษฎรที่มารอรับเสด็จอยู่นั้นป่วยกันเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จ ให้การตรวจและรักษาผู้ป่วยเหล่านั้น นับเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "แพทย์พระราชทาน"

๔.๒ โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์

โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลนราธิวาสและโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ

๔.๓ โครงการศัลยแพทย์อาสา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ แพทย์อาสาสมัครซึ่งเป็นศัลยแพทย์อาวุโสและมากประสบการณ์เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์ไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูลความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ในด้านศัลยกรรม และรวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา และก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

๔.๔ โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และ โรคภูมิแพ้พระราชทาน

เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื่องจากมีราษฎรจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รามาธิบดี ราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ ๒ สัปดาห์เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกลนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

๔.๕ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภว่า “เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า” ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า “การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” และทรงตรัสแก่ทันตแพทย์สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

"ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอและจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท

หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงาน โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๒ เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร

๕. มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีการก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ครบ 100 ปี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการเผยแพร่พระราชเกียรติคุณพระผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศ จึงได้จัดตั้ง “มูลนิธิรางวัลมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” และได้เปลี่ยนแปลงเป็น “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มีการมอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และตั้งแต่ พ.ศ. 2550 มูลนิธิได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลกมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) จัดให้มีการประชุมวิชาการด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศประจำปี เรียกชื่อว่า “Prince Mahidol Award Conference” ขึ้น โดยมุ่งเน้นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการสาธารณสุขระดับโลก

 

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พ.ศ. ๒๕๕๙ ปัจจุบัน)

พระองค์ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่สร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน ๒๑ แห่ง ทั้งทรงเสด็จเยี่ยมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ราษฎร และพระราชทานพระราโชบายแก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้มีประสิทธิภาพสามารถให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

นอกจากนั้นยังทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่หมู่บ้านสันติ ๒ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พระองค์ได้ทรงสนับสนุนโครงการตรวจสุขภาพภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๔
 

กระทรวงสาธารณสุขได้สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ โดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “หน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” เนื่องในวโรกาสที่ทรงครอง สิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๑๓-๑๔ พ.ค. ๒๕๖๐ ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัด ปราจีนบุรี

 

 

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข