สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ตำนานการตั้งกรุงศรีอยุธยาฯ เล่ากันว่า พระเจ้าอู่ทองอพยพมาสร้างเมืองใหม่ที่อยุธยา เพราะเมืองเดิมเกิดภัยพิบัติโรคห่าระบาด ที่เรียกว่าโรคห่านี้ ยังเป็นที่สงสัยกันว่าคือโรคอะไรแน่ สมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพฯ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นอหิวาตกโรค แต่ในพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกล่าวว่าเป็นไข้ทรพิษ

โรคระบาด โดยเฉพาะไข้ทรพิษน่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในสมัยนั้น เพราะมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นหลายครั้ง คือในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เข้าใจว่าจะเป็น      ไข้ทรพิษ ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ. ๑๙๙๗) ครั้งนั้น คนทั้งปวงเกิดทรพิศม์ตายมากนักแต่ไม่ปรากฏว่ามีการย้ายเมืองหนีแต่อย่างใด

 
           สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (พ.ศ. ๒๐๗๖)

                  ไข้ทรพิษระบาด ( พ.ศ. ๒๐๗๒๒๐๗๖)

  ในปี พ.ศ. ๒๑๑๗ สมัยพระรามาธิบดีที่ ๔ เกิดไข้ทรพิษระบาดไปทั่ว สมเด็จพระบรมรามาธิบดีที่ ๔ เองก็ทรงติดเชื้อไข้จนเสด็จสวรรคต ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ก็เกิดการระบาดของไข้ทรพิษอีก เชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ได้ติดเชื้อและป่วยเป็นไข้ทรพิษในคราวนี้ด้วย ไข้ทรพิษได้ระบาดอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ และเนื่องจากในยุคนี้มีชาวตะวันตกเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จึงมีบันทึกเรื่องการออกไปช่วยรักษาโรคของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสด้วย ในรัชสมัยของพระเพทราชา พ.ศ. ๒๒๓๙ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น ได้บันทึกถึงการระบาดของไข้ทรพิษที่ส่งผลให้มีคนตายทั่วพระราชอาณาจักรถึงเกือบ ๘๐,๐๐๐ คน ภายในเวลาไม่ถึงปี

 

            สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ  (พ.ศ. ๒๑๔๘๒๑๕๓)

                    การเรียกเอายาจากหัวเมือง

                การแพทย์ในราชสำนักในสมัยอยุธยานั้นมี หมอหลวงคอยให้การดูแลรักษาความเจ็บป่วยในราชสำนัก ส่วนชาวบ้านทั่วไปนั้นก็อาศัย หมอเชลยศักดิ์และหมอพระที่มีอยู่ในท้องถิ่น หมอยาในกรมหมอหลวงจะมีตะบองแดง คือ ตะบองอาญาสิทธิ์ โดยพระบรมราชานุญาต สำหรับถือไปเก็บสมุนไพรตามที่ต่างๆ เพื่อใช้ทำยาของหลวง ซึ่งผู้ใดจะหวงไว้มิได้ หรือโรงพระโอสถอาจซื้อหายาที่มีอยู่ตามย่านตลาดต่างๆ ยาที่ใช้ในราชสำนักนั้นมีโรงพระโอสถสองแห่งเป็นผู้จัดหา หากมีความต้องการตัวยาจากหัวเมืองต่างๆ ราชสำนักจะมีสารตราไปบอกตามหัวเมืองให้ส่งเครื่องยาที่ต้องการมายังกรุงศรีอยุธยา ดังมีปรากฏใน กฎหมายพระธรรมนูญ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ ความว่า

 “มาตรา ๒๕ ตราคนมือขวาถือค้อนระวัง ขุนเทเพนทรบดีเทพศรีสมุหะ พระตำรวจหลวงกลางได้ใช้ไปแก่กรรมการแลหัวเมืองเล็ก เรียกสิ่งยา สิ่งดี เลือด ตับ พุง แลยาง แต้วหางนกยูง…”

 

           สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  (พ.ศ. ๒๑๕๔๒๑๗๑) 

                   การชันสูตรศพโดยชาวโปรตุเกส

               ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสทำหน้าที่เป็นแพทย์ชันสูตรศพด้วย จากกรณีการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ เบนจามิน แฟร์ มีการสันนิษฐานว่า น่าจะเสียชีวิตจากการถูกวางยาพิษ จึงให้ชาวโปรตุเกสทำหน้าที่ชันสูตรศพ

              การตั้งโรงพยาบาลโดยชาวโปรตุเกส  (พ.ศ. ๒๑๖๒)

             มีหลักฐานที่แสดงถึงการตั้งโรงพยาบาลของชุมชนโปรตุเกสในอยุธยา โดยมีจดหมายจากอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัวมาถึงกัปตันกาซปาร์ ปาเชกู ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุมชนโปรตุเกสในอยุธยา เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๖๒ ชักชวนให้ผู้คนร่วมกันสร้างเรือนรักษาหรือโรงพยาบาลขึ้นที่ท่าเรือเหมือนที่เคยมีมาก่อน สันนิษฐานว่าเรือนรักษาหรือโรงพยาบาลนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาชนชาติยุโรปอื่นๆ นอกเหนือจากชาวโปรตุเกสด้วย

 

           สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙๒๒๓๑)

                  ตำราพระโอสถพระนารายณ์

  ตำราพระโอสถพระนารายณ์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งมีผู้นำมาวิเคราะห์ศึกษาต่ออีกมากมายหลายท่าน ทำให้ได้ทราบถึง แนวคิดและวิธีวิทยาของการแพทย์แผนไทยแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องร่างกายว่าประกอบด้วยธาตุสี่  เรื่องที่มาของโรคว่ามาจากการใช้ยาเพื่อปรับธาตุ เรื่องสมมุติฐานของโรคที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ประการขาดความสมดุล

  โรงพยาบาลแห่งแรกของพวกบาทหลวงฝรั่งเศส  (พ.ศ. ๒๒๑๒)

              พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน (Luis Laneau) ประมุขมิซซังสยามคนแรก ได้สร้างโรงพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๑๒ โดยเป็นอาคารเล็กๆ รองรับผู้ป่วย ๓๔ คน ก่อนจะเพิ่มเป็น ๑๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๒๑๕พระสังฆราชลาโนมีความรู้ในด้านการรักษาพยาบาล จึงรับหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ต่อมาโรงพยาบาลของพวกบาทหลวงฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยา มีการขยายตัวมากกว่าเดิม ในโรงพยาบาลมีอาคาร ๒ หลัง แบ่งเป็นอาคารที่พักชาย ๑ หลัง หญิง ๑ หลัง ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลมีโรงจ่ายยา มีผู้มาเข้าโรงพยาบาลประมาณ ๕๐-๙๐ คน รักษาคนไข้ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คนทุกวัน ยาที่โรงพยาบาลแจกให้คนไข้ใช้มากที่สุดคือ น้ำมันและน้ำเสก ซึ่งในบันทึกอ้างว่า ยาออกฤทธิ์ดีมาก เมื่อผู้ป่วยใช้ล้างหรือทาไปครั้งหนึ่งจะรู้สึกว่าหายป่วย คนที่มีแผลฝีเต็มร่างกายก็หาย คนที่ตาบอดก็กลับมองเห็น ที่หูหนวกก็ได้ยิน ที่เป็นโรคเรื้อน โรคท้องมานก็หาย เพราะน้ำมันนี้ได้รับการปลุกเสกตามวิธีการที่กำหนดในหนังสือจารีต พระสังฆราชลาโนต้องออกไปเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๙ โมงเช้าถึงบ่ายสามหรือสี่โมง

ความสำเร็จในการรักษาพยาบาลโดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานเก้าอี้ลงทองตัวหนึ่ง คล้ายกับธรรมมาสน์ของพระสังฆราชองค์ใหญ่ที่สุดของพวกพระภิกษุมาให้

             การจัดการด้านสุขาภิบาลครั้งแรกในสยาม

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเจริญถึงจุดสูงสุด มีการรับเอาวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส เช่น วิทยาการการสร้างป้อมปราการแบบฝรั่งเศส ดาราศาสตร์ การก่อสร้าง และการฝึกทหาร นอกจากนั้นยังมีการสร้างระบบประปาขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองลพบุรี โดยมีสังฆราชชาวอิตาเลียน ชื่อ ดาโกลี ร่วมวิศวกรชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งได้สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๕ -๒๒๒๗ โดยดึงน้ำจาก ทะเลชุบศรผ่านระบบท่อประปาดินเผาเข้ามาในพระราชวัง ผู้ที่ไปเที่ยวชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ยังสามารถเห็นอ่างเก็บน้ำที่ก่อด้วยอิฐยกขอบเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษ พร้อมกับท่อดินเผาที่ใช้จ่ายน้ำไปใช้ตามตึกและพระที่นั่งต่าง ๆ

การจัดหาน้ำสะอาดด้วยระบบประปานี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการด้านสุขาภิบาลที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

 

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑

หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข